หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบว่าการที่ให้ยากับผู้ป่วยจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง อย่างไร ระยะเวลาในการให้เกี่ยวข้องมั้ย ความแรงเกี่ยวข้องมั้ย และมีอะไรอีกบ้างที่เกี่ยวข้อง

ถามโดย นิน่า เผยแพร่ตั้งแต่ 21/09/2010-16:43:45 -- 8,790 views
 

คำตอบ

การให้ยาแก่ผู้ป่วยต้องคำนึงถึงหลายๆปัจจัย คำถามนี้จึงเป็นคำถามที่กว้างพอสมควร จึงขออนุญาตตอบหลักการโดยทั่วไปของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ดังนี้ 1.ข้อบ่งใช้ (indication) หมายถึงใช้ยาเมื่อมีความจำเป็น หรือการใช้ยาโดยมีข้อบ่งใช้ 2.ประสิทธิผล (efficacy) โดยยานั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง เป็นยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผลจริง มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ 3.ความเสี่ยง (risk) คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยมีหลักฐานสนับสนุนว่าให้ประโยชน์ทางคลินิกมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงข้อห้ามใช้ และข้อควรระวังในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยรายนั้นๆด้วย 4.ค่าใช้จ่าย (cost) มีราคา เหมาะสม คุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ไม่เป็นการใช้ยาอย่างซ้ำซ้อนหรือใช้ยาแพงโดยไม่จำเป็น 5.องค์ประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น (other considerations) เภสัชกรจำเป็นต้องรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง รับผิดชอบและใช้ยาอย่างเป็นขั้นตอนตามมาตรฐานทางวิชาการ โดยคำนึงถึงประเด็นอื่นๆที่จำเป็นจากการใช้ยานั้นๆ เช่น ปัญหาเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ปฏิกิริยาระหว่างยากับยา ยากับอาหาร ยากับโรค 6.ขนาดยา (dose) โดยใช้ยาในขนาดที่พอเหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละกรณี 7.วิธีให้ยา (method of administration) ถูกต้องตามหลักเภสัชวิทยา 8.ความถี่ในการให้ยา (frequency of dose)ที่เหมาะสม 9.ระยะเวลาในการให้ยา (duration of treatment) ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสมตามที่มีแนวทางการรักษาระบุไว้ เป็นต้น 10.ความสะดวก (patient compliance) โดยคำนึงถึงความสะดวกและการยอมรับของผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยให้การยอมรับจะทำให้สามารถใช้ยาดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดการใช้ยาที่เหมาะสม ตรงกับโรคที่เป็น ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ยาอย่างถูกต้อง โดยจะส่งผลดีทั้งต่อตัวผู้ป่วยรวมถึงระบบบริการทางสาธารณสุขด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเภสัชกรหรือที่ห้องยาเอง เช่น การจ่ายยาผู้ป่วยถูกราย เตรียมชนิดยา รูปแบบ และความแรงถูกต้อง จัดทำฉลากถูกต้อง เลือกภาชนะบรรจุเหมาะสม จัดปริมาณยาครบถ้วน และยาที่จัดจ่ายต้องไม่เป็นยาที่หมดอายุ หรืออยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยเช่นกัน

Reference:
1. Norman M. Index Guide to Rational Drug Therapy. Bull Med Libr Assoc. 1983 October; 71(4): 470–471.
2. ธิดา นิงสานนท์, ปรีชา มนทกานติกุล ,บรรณาธิการ. การป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชนจำกัด; 2548.

Keywords:
-





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้