หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การใช้ยารักษาสิว แบบทาภายนอก ตัวยาคือ adapalene (differin) 1.ถ้าใช้ไปนาน ๆ จะเกิดผลเสียไหมครับ หรือมีข้อห้ามใช้ไม่เกินกี่เดือน 2.ตอนที่ผมใช้ สิวหายไปแล้ว แต่พอหยุดใช้ สิวกลับมาอีก แบบนี้มันสามารถใ้ช้ไปได้ตลอดเลยหรือไม่ 3.หรือว่าควรลดปริมาณการใช้ลง และถ้าลดปริมาณการใช้ลง แต่ใช้ไปนาน ๆจะเกิดอันตรายหรือไม่ 4.แล้วถ้าต้องลดปริมาณการใช้ลง ควรทำยังไงครับ

ถามโดย เจมส์ เผยแพร่ตั้งแต่ 07/08/2010-20:52:50 -- 47,158 views
 

คำตอบ

สำหรับ differin หรือยา adapalene นั้นเป็นยาทารักษาสิวที่พัฒนามาจาก tretinoin ทำให้เกิดผลดีในเรื่องของการลดผลข้างเคียงลงเมื่อเทียบกับยา tretinoin เดิม นอกจากนี้การที่ยาคงทนกว่าทำให้สามารถถูกแสงได้มากขึ้น จึงอาจมีการนำยามาทาตอนเช้าได้ด้วย การใช้ยานี้พบว่าให้ผลการรักษาไม่เกิน 8-12 สัปดาห์หลังการใช้ โดยจะสังเกตว่ามีการยุบลงของสิวเกิดขึ้น และมีการลดลงของสิวที่อาจเกิดใหม่ด้วย มีการทำการศึกษาการใช้ adapalene ยาวนานถึง 52 สัปดาห์และมีการสรุปออกมาว่าไม่พบข้างเคียงที่ร้ายแรงหากมีการใช้ต่อเนื่องยาวนาน ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ ผิวแห้ง แสบ ลอกเป็นขุย หรือเกิดการระคายเคืองในบริเวณที่ทาได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในตอนเริ่มใช้ยา จึงมีการแนะนำว่า ควรใช้ยาในความเข้มข้นต่ำก่อน และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเมื่อผิวคุ้นกับยามากขึ้น รวมถึงอาจต้องหลีกเลี่ยงการโดนแสง นอกจากนี้หากสิวลดลงแล้วสามารถเลิกใช้ได้ และกลับมาใช้อีกเมื่อมีสิวขึ้นมาอีก ในรายของคุณเจมส์ ทางเภสัชกรจึงขอแนะนำว่า หากมีการใช้จนสิวยุบลงไปหมดแล้ว สามารถลดการใช้โดยลดความเข้มข้นหรือลดความถี่ในการทาลง หากมีสิวกลับขึ้นมาอีก จึงค่อยๆเพิ่มความเข้นข้นขึ้นมาจากเดิมหรือกลับมาใช้ใหม่หากเดิมมีการหยุดใช้ไปและใช้ได้จนสิวนั้นยุบลงไปอีกครั้ง เนื่องจากการใช้ยานี้สามารถทาได้โดยการพิจารณาจากลักษณะ และความรุนแรงของสิวที่เกิดขึ้น ซึ่งคุณเจมส์สามารถทำได้เองจากวิธีที่แนะนำไป นอกจากนี้หากเกิดอาการ เช่น ผิวแดง แห้ง แตกเป็นขุย อาจหมายถึงอาการข้างเคียงของยา ทางเภสัชกรแนะนำให้หยุดยา หากเป็นมากอาจต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรต่อไป

Reference:
1. Weiss JS, Thiboutot DM, Hwa J, Liu Y, Graeber M., Long-term safety and efficacy study of adapalene 0.3% gel. Drugs Dermatol. 2008 Jun;7(6 Suppl):s24-8.
2. Adapalene. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Aug9. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010Aug9].
3. ปรียา กุลละวณิชย์ และประวิตร พิศาลบุตร. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2548.
4. Adapalene.[ Available at: http://www.medscape.com/druginfo/monograph?cid=med&drugid=6442&drugname=Adapalene+Top&monotype=monograph&secid=2]. Access date: 9 August 2010.

Keywords:
-





ผิวหนังและเครื่องสำอาง

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้