หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณหมอวินิจฉัยว่าผมเป็นเริมที่ลิ้น มีอาการเจ็บและปวดแสบปวดร้อนที่ลิ้น ให้ทาน acyclovir 800 mg วันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน อาการไม่ดีขึ้น จึงเปลี่ยนยาเป็น valaciclovir 500 mg วันละครั้ง เป็นเวลา 21 วัน ผทขอเรียนถามว่า ยาตัวแรกทำไมถึงไม่หาย และยาตัวที่สองซึ่งแรงกว่า ทำไมถึงต้องทานระยะเวลานาน และจะมีอันตรายหรือไม่

ถามโดย คนไม่ชอบกินยา เผยแพร่ตั้งแต่ 04/05/2010-16:57:18 -- 20,201 views
 

คำตอบ

Valaciclovir และ acyclovir เป็นยาต้านเชื้อไวรัสซึ่งมักใช้ในการรักษาโรคเริม งูสวัด หรืออีสุกอีใส ยา acyclovir จะมีระดับยาในเลือดค่อนข้างต่ำทำให้ต้องรับประทานยาหลายหนต่อวัน (5 ครั้ง) เพื่อให้ได้ระดับยาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ส่วนยา valaciclovir นั้นถูกปรับโครงสร้างให้ต่างกับยา acyclovir เล็กน้อย เมื่อรับประทานยา valaciclovir เข้าไปร่างกายจะเปลี่ยน valaciclovir ให้กลับเป็น acyclovir ซึ่งการปรับโครงสร้างอย่างนี้จะทำให้ได้ระดับยา acyclovir ในเลือดที่สูงกว่าการรับประทานยา acyclovir ไปเลยตรงๆ อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนครั้งของการรับประทานยาลงด้วย (วันละครั้ง) ขนาดยา valaciclovir ที่ใช้รักษาโรคเริมที่ปากจะใช้ในระยะแรกที่เริ่มเป็นโรค ขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ คือ ครั้งละ 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง โดยรับประทานห่างกัน 12 ชั่วโมง และรับประทานเพียงวันเดียว (หากผู้ที่ไตทำงานบกพร่องจะใช้ขนาดยาลดลง) โรคเริมหายเองเองได้ ในผู้ที่มีภูมิต้านทานปกติ ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน จะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุที่รับประทานยาแล้วไม่หายนั้นเป็นสิ่งที่ระบุได้ค่อนข้างยาก จึงอยากแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยละเอียดอีกครั้ง อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยและอาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยา valaciclovir นั้นมักไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ , คลื่นไส้ , อาเจียน , มึนงง , เบื่ออาหาร , ท้องผูก , อ่อนเพลีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีหากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที - อาการแพ้ เช่น ผื่นที่ผิวหนัง ผื่นคันหรือลมพิษ หน้าบวม ปากบวม หรือลิ้นบวม - พฤติกรรมก้าวร้าว ความคิดสับสน ประสาทหลอน - มีปัญหาในการทรงตัว การพูด หรือการเดิน - อาการสั่น - ปัสสาวะลำบาก - ตัวเหลืองหรือตาเหลือง - มีเลือดปนในปัสสาวะ

Reference:
1. Valaciclovir. In: DRUGDEX EVALUATION. [Online]. 2010 Apr 29. Available from: MICROMEDEX Healthcare Series. 2010. [cited 2010 May 6].
2. Valtrex [Package insert]. Glaxo Smith Kline; 2008.

Keywords:
-





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้