หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยา Amlodipine 10 mg กับ ยา Manidipine 10 mg สามารถใช้กินแทนกันได้มั้ยครับ เพราะเป็นยาออกฤทธิ์ ในกลุ่มเดียวกัน มีผลข้างเคียง และข้อควรระวังอะไรไหมครับ

ถามโดย ครรชิต จาดประยงค์ เผยแพร่ตั้งแต่ 10/03/2025-05:14:23 -- 484 views
 

คำตอบ

Amlodipine และ manidipine จัดเป็นยากลุ่มปิดกั้นช่องแคลเซียมประเภทไดไฮโดรไพริดีน (dihydropyridine calcium channel blockers, DHP-CCBs) ซึ่งมีข้อบ่งใช้ร่วมกันหลายประการ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเจ็บแน่นหน้าอกเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะความดันโลหิตสูง สำหรับฤทธิ์ลดความดันโลหิต ยาทั้ง 2 ออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียมบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบผนังหลอดเลือด ทำให้ลดอัตราการเต้นและการบีบตัวของหัวใจและหลอดเลือดเกิดการขยายตัว จึงนำมาสู่การลดลงของความดันโลหิต โดย manidipine ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นขนาดที่ออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับ amlodipine ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากมีข้อมูลวิจัยสนับสนุนว่าให้ผลลดความดันโลหิตสูงสุดขณะหัวใจห้องล่างบีบตัว (systolic blood pressure, SBP) และ ความดันโลหิตต่ำสุดขณะหัวใจห้องล่างคลายตัว (diastolic blood pressure, DBP) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตที่ลดลงอยู่ที่ 18.3/8.5 และ 17.3/10.5 มม.ปรอท สำหรับ manidipine และ amlodipine ตามลำดับ (1) อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยา ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรปรับยาเองโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจมีภาวะร่วมอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องนำมาประกอบการตัดสินใจด้วย ทั้งนี้อุบัติการณ์ของอาการบวมน้ำ (peripheral edema) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยในกลุ่มยาลดความดันโลหิตประเภท DHP-CCBs พบน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ได้รับ manidipine (3.6%) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ amlodipine (17.5%) ส่วนผลข้างเคียงอื่น เช่น ใจสั่น หรือ หน้าแดง พบในอัตราใกล้เคียงกันระหว่างยาทั้งสอง (2) และกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตผิดปกติ อาจพิจารณาใช้ manidipine เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดความดันในหลอดเลือดภายในโกลเมอรูลัสของไต (intraglomerular pressure) ซึ่งอาจช่วยชะลอการเสื่อมของไต ในขณะที่ amlodipine อาจไม่มีผลลดความดันบริเวณดังกล่าว (2)

Reference:
(1) Richy FF, Laurent S. Efficacy and safety profiles of manidipine compared with amlodipine: a meta-analysis of head-to-head trials. Blood Press. 2011;20(1):54-9.
(2) Ott C, Schneider MP, Raff U, Ritt M, Striepe K, Alberici M, et al. Effects of manidipine vs. amlodipine on intrarenal haemodynamics in patients with arterial hypertension. Br J Clin Pharmacol. 2013;75(1):129-35.

Keywords:
calcium channel blockers, amlodipine, manidipine





หัวใจและหลอดเลือด

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้