แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น. ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ป่วยอายุ 18-64 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ ฺควรฉีดวัคซีนปอดอักเสบหรือไม่ หากผู้ป่วยต้องการฉีด ต้องฉีดวัคซีนปอดอักเสบอย่างไร ต้องฉีดกี่เข็ม และต้องห่างกันกี่เดือน ขอบคุณค่ะ

ถามโดย ATT เผยแพร่ตั้งแต่ 06/12/2024-17:59:23 -- 216 views
 

คำตอบ

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (pneumococcal vaccine) มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) pneumococcal conjugate vaccine (PCV10, PCV13, PCV15 และ PCV20) ครอบคลุมเชื้อ 10, 13, 15 และ 20 สายพันธุ์ และ 2) pneumococcal polysaccharide vaccine (PPSV23) ครอบคลุม 23 สายพันธุ์ โดยแต่ละช่วงอายุมีคำแนะนำการฉีดวัคซีนแตกต่างกัน (1,2,3) การฉีดวัคซีนในผู้มีอายุ 18–64 ปี แนะนำในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ได้แก่ พิษสุราเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง สูบบุหรี่ ผู้ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ผู้มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง ผู้ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานบกพร่อง ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันหรือรังสีรักษา ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและ nephrotic syndrome ผู้ป่วยมะเร็งชนิดแพร่กระจาย ผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด เช่น leukemia, lymphoma, Hodgkin disease และ multiple myeloma ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ผู้ป่วย hemoglobinopathies สำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบเนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อและอัตราเสียชีวิตจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสค่อนข้างต่ำ (2,3,4) ข้อมูลอุบัติการณ์ติดเชื้อนิวโมคอคคัสในสหรัฐอเมริกา พบว่ากลุ่มอายุ 18–34 ปี มีอัตราเสียชีวิตจากการติดเชื้อร้อยละ 0.06 กลุ่มอายุ 35–49 ปี มีอัตราเสียชีวิตจากการติดเชื้อร้อยละ 0.54 และกลุ่มอายุ 50–64 มีอัตราเสียชีวิตจากการติดเชื้อร้อยละ 1.68 (5) ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบในกลุ่มอายุดังกล่าวจึงอาจไม่ให้ประโยชน์ที่ชัดเจนหรือมีความจำเป็นในเชิงการป้องกันโรค หากต้องการฉีดในผู้ไม่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยง ให้พิจารณาจากประวัติการได้รับวัคซีน โดยในผู้ใหญ่ทุกคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ให้ฉีด PCV13 ให้ 1 เข็ม (1,6) ถ้าเคยได้ PCV13 อย่างเดียวเมื่ออายุเท่าใดก็ตาม แนะนําให้ฉีด PCV20 ให้ 1 เข็ม หรือ PPSV23 ให้ 1 เข็ม ถ้าเคยได้ PPSV23 อย่างเดียวเมื่ออายุเท่าใดก็ตาม แนะนำให้ฉีด PCV13, PCV15 หรือ PCV20 ให้ 1 เข็ม ถ้าเคยได้ PCV13 และ PPSV23 มาก่อน แนะนำให้ฉีด PCV20 หรือ PPSV23 ให้ 1 เข็ม (2) ไม่แนะนำฉีดในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรและผู้ที่มีปฏิกิริยารุนแรงจากวัคซีนเข็มก่อน (1)

Reference:
1.กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. หน้า 333-61.

2.คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ. สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566. หน้า 20-21.

3.Kobayashi M. Pneumococcal vaccine for adults aged≥ 19 years: recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices, United States, 2023. MMWR Recomm Rep. 2023;72.

4.Grogg SE, Schultz J. Call to action on pneumococcal disease: review of vaccination evidence and outcomes of webcast programs. J Am Osteopath Assoc. 2015 Jun 1;115(s6):6-25.

5.Centers for Disease Control and Prevention. Active bacterial core surveillance (ABCs). Streptococcus pneumoniae. Trends by serotype group. [consultado 30 Sep 2019] [Internet].

6.Pfizer. Prevnar 13 Package Insert [Internet]. 2024 [cited 2024 Jan 6]. Available from: https://www.fda.gov/files/vaccines%2C%20blood%20%26%20biologics/published/Package-Insert------Prevnar-13.pdf

Keywords:
วัคซีน, นิวโมคอคคัส, ปอดอักเสบ, pneumococcal vaccine





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้