Androgen Deprivation Therapy ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด stroke
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 5 เดือน กันยายน ปี 2554 -- อ่านแล้ว 2,465 ครั้ง
Androgen deprivation therapy (ADT) ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิด stroke จากการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) ในไต้หวัน แม้ว่าการศึกษาก่อนหน้านี้จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ADT กับการเกิด cardiovascular disease โดยรายงานจากการศึกษาก่อนหน้านี้หลายฉบับแสดงให้เห็นถึงการใช้ ADT ในระยะยาวสำหรับรักษา prostate cancer อาจมีผลลดคุณภาพชีวิต ความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก metabolic syndrome และ cardiovascular diseases อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่าง ADT กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่
Dr. Chung และคณะได้ทำการศึกษาแบบ prospective case-control โดยใช้ Longitudinal Health Insurance Database 2000 ในผู้ป่วยชาวไต้หวัน 365 ราย ซึ่ง 64 ราย (17.5%) ได้รับ ADT และ 301 รายไม่ได้รับการรักษาด้วย ADT โดยผู้ป่วยที่ได้รับ ADT มีอายุมากกว่า (73 ปี vs 70 ปี) และมีความเป็นได้ที่จะเกิดภาวะโลหิตสูง (72% vs 53%) การศึกษาครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยเกิด stroke จำนวน 68 ราย โดยอยู่ในกลุ่มที่ได้รับ ADT 11 ราย (17.2%) และไม่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับ ADT 57 ราย (18.9%) และเมื่อมีการควบคุมอิทธิพลของ อายุ ความดันโลหิต coronary heart disease และปัจจัยอื่นๆ แล้วพบว่าความเสี่ยงในการเกิด stroke ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ ADT กับที่ไม่ได้รับ ADT มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติโดยมี hazard ratio = 1.09 (95% CI,0.80-1.50)
Dr. Chung และคณะกล่าวว่าผลจากการศึกษาจะเพิ่มโอกาสของผู้ป่วยในการได้รับ ADT สำหรับการรักษา prostate cancer ในไต้หวัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับแพทย์ในการเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ ADT อย่างไรก็ตามอาจจะไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับผู้ป่วยในประเทศแถบตะวันตกเมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างในเรื่องของการรับประทานอาหาร การดำเนินชีวิต และการสูบบุหรี่