การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากอาจเชื่อมโยงกับการเกิดต้อกระจก
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มกราคม ปี 2554 -- อ่านแล้ว 5,251 ครั้ง
ส่วนสุขภาพ สำนักข่าว Reuter ได้รายงานผลการศึกษาอันหนึ่งที่แสดงถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อการเกิดต้อกระจกในผู้ป่วยชายสูงอายุที่ได้รับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยการลดฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen deprivation therapy, ADT)
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศเตือนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่รักษาด้วย ADT เช่น Lupron หรือ Zoladex ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานหรือปัญหาเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากโรคอ้วน และเบาหวานเองมีความสัมพันธ์กับการเกิดต้อกระจก ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าการเกิดต้อกระจกในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากนี้เป็นผลทางอ้อมที่ไม่ได้คาดหวังอีกอันหนึ่งของ ADT
Beebe-Dimmer และคณะได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 66 ปีจำนวน 66,000 ราย จากฐานข้อมูล US cancer registry พบว่าผู้ป่วยเกือบร้อยละ 50 ได้รับการรักษาด้วย ADT ในระยะ 6 เดือนแรกหลังได้รับการวินิจฉัย โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาลดระดับฮอร์โมน พบว่ามีผู้ป่วยต้อกระจกเกิดขึ้นใหม่จำนวน 111 ราย ต่อผู้ป่วย 1,000 รายต่อปี เมื่อวิเคราะห์ โดยตัดปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจสัมพันธ์กับการเกิดต้อกระจกออกไป พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธี ADT จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ ADT โดยจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ตัดลูกอัณฑะแล้ว การเกิดต้อกระจกนี้จะพบมากในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติการเกิดต้อกระจกมาก่อน
ผู้วิจัยให้ความคิดเห็นว่าความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกที่เพิ่มขึ้นนี้อาจจะดูค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับ ADT จะมีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เป็นต้อกระจกจะเพียงร้อยละ 5 ที่คิดว่าเป็นผลจากการรักษา
ด้วยเหตุที่ ADT เป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับความนิยมมาก และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรได้รับการเฝ้าติดตามระดับน้ำตาลในเลือด การเกิดเบาหวาน และ ความเสี่ยงที่จะเกิดต้อกระจก
ที่มาข้อมูล: “Prostate cancer treatment may be tied to cataracts”