หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาต้าน factor Xa ชนิดรับประทาน Apixaban มีประสิทธิภาพดีกว่าและมีความปลอดภัยพอกับ Enaoxaparin ในการป้องกันการเกิด venous thromboembolism หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มกราคม ปี 2554 -- อ่านแล้ว 8,144 ครั้ง
 
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกมักมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด venous thromboembolism (VTE) จึงมีข้อแนะนำให้ใช้ยา low-molecular-weight heparins (LMWHs) เช่น enoxaparin, dalteparin หรือ vitamin K antagonists เช่น warfarin หลังผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิด VTE จากข้อจำกัดของการใช้ยาในกลุ่ม LMWHs ที่ต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือการใช้ยา warfarin ที่มีช่วงการรักษาแคบ จำเป็นต้องติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ นำมาสู่การพัฒนายาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานตัวใหม่ คือ apixaban ซึ่งไม่จำเป็นต้องติดตามผลทางห้องปฏิบัติการอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้สะดวกยิ่งขึ้น

จากการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า apixaban มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ enoxaparin ในการป้องกันการเกิด VTE ในผู้ป่วยผ่าตัดข้อเข่า จากการศึกษาต่อมาแบบ double-blind โดยผู้วิจัยกลุ่มเดียวกัน ในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก 5,400 ราย เปรียบเทียบประสิทธิภาพการป้องกันการเกิด VTE หลังผ่าตัดระหว่างยา apixaban 2.5 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง เริ่มให้ยาในช่วง 12-24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด กับ enoxaparin 40 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละครั้ง ติดต่อกันนาน 35 วัน โดยเริ่มให้ยา 12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด apixaban มีประสิทธิภาพมากกว่า enoxaparin ในการป้องกัน deep venous thrombosis ทั้งที่มีและไม่มีอาการแสดง nonfatal pulmonary embolism หรือ การเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ขั้นต้น โดยพบ VTE ร้อยละ 1.4 ในกลุ่มที่ได้ apixaban เทียบกับร้อยละ 3.9 ในกลุ่มที่ได้ enoxaparin ตามลำดับ ในขณะที่ apixaban ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออก สำหรับ number needed to treat (NNT) ของ apixaban ในการป้องกันผลลัพธ์ขั้นต้น 1 เหตุการณ์ เท่ากับ 40 และ NNT ในการป้องกัน VTE ที่ร้ายแรง 1 เหตุการณ์ เท่ากับ 150 จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า apixaban มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิด VTE ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยาเพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว อาจต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป เช่น ผู้ป่วยมีข้อห้ามของการใช้ยา หรือปัญหาของการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่เดิม เป็นต้น

 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้