หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประโยชน์ Moderate exercise ปริมาณต่ำในผู้มีน้ำหนักเกิน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มกราคม ปี 2547 -- อ่านแล้ว 2,979 ครั้ง
 
การออกกำลังกายระดับปานกลางในปริมาณต่ำมีประโยชน์สำหรับผู้มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (overweight) ในการลดไขมันและน้ำหนักร่างกาย และจะลดได้มากขึ้นตามระดับ(intensity) และปริมาณ (amount) การออกกำลังกาย





เป็นที่ทราบกันดีเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น การลดน้ำหนักจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีการระบุถึงปริมาณการออกกำลังกายที่มีผลป้องกันน้ำหนักตัวขึ้นอย่างชัดเจน





Cris A Slentz และคณะได้ทำการศึกษาแบบ randomized controlled trial ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เป็นโรคไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) ไม่ควบคุมการรับประทานอาหารและมีอายุอยู่ในช่วง 40 ถึง 65 ปี 182 ราย โดยแบ่งทำการศึกษาเป็น 4 กลุ่มย่อยโดยมี 3 กลุ่มได้รับการออกกำลังกายที่แตกต่างกันและกลุ่มควบคุม สำหรับกลุ่มที่ได้รับการออกกำลังกาย ออกกำลังกายอย่างหนักในปริมาณสูงและต่ำ ซึ่งใช้พลังงานเทียบเท่าการวิ่งจ๊อกกิ้งประมาณ 32 และ 19.2 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ ที่มีการใช้ออกซิเจนร้อยละ 65 ถึง 80 ของปริมาณการใช้สูงสุดตามลำดับ และออกกำลังกายอย่างปานกลางปริมาณต่ำ ซึ่งใช้พลังงานเทียบเท่าการเดินประมาณ 19.2 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ ที่มีการใช้ออกซิเจนร้อยละ 40 ถึง 55 ของปริมาณการใช้สูงสุดเช่นกัน เป็นเวลานานติดต่อกัน 8 เดือน นอกจากนี้ผู้ป่วยยังได้รับการจูงใจให้พยายามรักษาน้ำหนักตัวคงที่





เมื่อสิ้นสุดการศึกษามีผู้ป่วยเพียง 120 รายที่คงเหลืออยู่ในการศึกษา พบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการออกกำลังกายและปริมาณน้ำหนักรวมทั้งไขมันที่ลดลง (P<0.05) เกือบจะเป็นเส้นตรงที่แปรผกผันกัน กลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างหนักในปริมาณสูงสามารถลดน้ำหนักและไขมันได้มากกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายในปริมาณต่ำทั้งอย่างปานกลางและอย่างหนักรวมทั้งกลุ่มควบคุม ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ออกกำลังกายในปริมาณต่ำทั้งสองระดับลดได้มากกว่ากลุ่มควบคุมด้วยเช่นกัน และในทุกกลุ่มที่มีการออกกำลังกายสามารถลดเส้นรอบวงตามตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ที่บริเวณท้อง, ข้อมือและสะโพก เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม





ผู้ป่วยในกลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างปานกลางในปริมาณต่ำ 24 ใน 28 รายหรือร้อยละ 86 ออกกำลังด้วยการเดินประมาณ 30 นาทีต่อวัน และผู้ทำการศึกษาคาดการณ์โดยอาศัยความสัมพันธ์ dose-response relationship ระหว่างปริมาณการออกกำลังกายและน้ำหนักที่ลดลงว่าการป้องกันน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานอาจจำเป็นต้องมีการออกกำลังกายด้วยการเดินหรือการวิ่งจ๊อกกิ้งในช่วง 9.6 ถึง 11.2 กิโลเมตรต่อสัปดาห์เป็นอย่างต่ำ

 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้