หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Donanemab…anti-amyloid ใหม่ สำหรับรักษาอัลไซเมอร์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ตุลาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 551 ครั้ง
 
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease; AD) เป็นโรคที่มีการเสื่อมถอยของระบบประสาท (neurodegenerative) จนอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม (dementia) โดยมีสมมติฐานว่า AD เกิดจากการสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ (β-amyloid peptide; Aβ) ซึ่งเกาะตัวกันเป็นอะไมลอยด์พลาก (amyloid plaques) หรือโปรตีนเทา (tau) ซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนที่ผิดปกติและกำจัดออกจากสมองไม่ได้ การสะสมของโปรตีนทั้งสองทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างและการทำงานของเส้นประสาทที่บริเวณสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) และเปลือกสมอง (cortical regions) ทำให้เกิดภาวะรู้คิดบกพร่อง (cognitive impairment) และภาวะสมองเสื่อม จึงนำมาสู่การพัฒนายาที่มีเป้าหมายต่อ Aβ หรือยากลุ่ม anti-amyloid monoclonal antibodies โดยปัจจุบันมียากลุ่มดังกล่าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่ aducanumab, lecanemab และล่าสุด คือ donanemab (immunoglobulin G1 monoclonal antibody ซึ่งออกฤทธิ์ด้วยการจับกับ Aβ และช่วยกำจัด amyloid plaques ผ่านกระบวนการ phagocytosis ที่พึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 สำหรับรักษาโรค AD ที่มีภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (mild cognitive impairment) หรือภาวะสมองเสื่อมระยะแรก (mild dementia stage) โดยก่อนเริ่มการรักษาผู้ป่วยต้องได้รับการยืนยันว่าพบ Aβ ในสมองจากการตรวจด้วยวิธี positron emission tomography (PET)

การศึกษาที่ใช้สนับสนุนการขึ้นทะเบียน donanemab ได้แก่ TRAILBLAZER-ALZ 2 ซึ่งเป็นการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของโปรตีนอะไมลอยด์ร่วมกับโปรตีนเทาระดับต่ำหรือปานกลางจากกลุ่มประชากรของการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ที่ทำไปก่อนหน้าชื่อ TRAILBLAZER-ALZ หรือผู้ที่มีพยาธิสภาพของโปรตีนเทาระดับสูง โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับ intravenous donanemab ขนาด 700 มก. infusion ประมาณ 30 นาที ทุก 4 สัปดาห์ 3 ครั้ง และตามด้วยขนาด 1,400 มก. ทุก 4 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 72 สัปดาห์ กับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งพบว่ากลุ่มที่ได้รับ donanemab มีการเปลี่ยนแปลงของ integrated Alzheimer disease rating scale หรือ iADRS (เป็นการประเมิน cognition และ daily function) เมื่อเปรียบเทียบจาก baseline ที่ 76 สัปดาห์ อยู่ที่ -6.02 (95% CI, -7.01 to -5.03) และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอยู่ที่ -9.27 (95% CI, -10.23 to -8.31) แสดงว่า donanemab สามารถชะลอการดำเนินของโรคได้ 35.1% (95% CI, 19.90%-50.23%) ด้านความปลอดภัยพบว่าเกิด amyloid-related imaging abnormalities (ARIA) เช่น การบวมน้ำ (edema) หรือน้ำคั่ง (effusion) ในสมอง ในกลุ่มที่ได้รับ donanemab 205 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 18 คน นอกจากนี้พบว่ามีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการรักษาในกลุ่มที่ได้รับ donanemab 3 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 1 คน ดังนั้นจึงควรติดตามการเกิด ARIA ระหว่างการใช้ยา และคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการรักษาและความเสี่ยงในการเกิด ARIA ก่อนเริ่มการรักษา

เอกสารอ้างอิง

1. Osborne OM, Naranjo O, Heckmann BL, Dykxhoorn D, Toborek M. Anti-amyloid: an antibody to cure Alzheimer’s or an attitude. iScience. 2023 Aug 18; 26(8).

2. Shi M, Chu F, Zhu F, Zhu J. Impact of anti-amyloid-β monoclonal antibodies on the pathology and clinical profile of Alzheimer’s disease: a focus on aducanumab and lecanemab. Front Aging Neurosci. 2022 Apr 12; 14:870517.

3. Eli Lilly and company. KISUNLA (donanemab-azbt) [Internet]. 2024 [cited 17 Jul 2024]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2024/ 761248s000lbl.pdf

4. Sims JR, Zimmer JA, Evans CD, Lu M, Ardayfio P, Sparks J, et al. Donanemab in early symptomatic Alzheimer disease: the TRAILBLAZER-ALZ 2 randomized clinical trial. JAMA. 2023 Aug 8; 330(6):512-527.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคอัลไซเมอร์ รักษาอัลไซเมอร์ Donanemab anti-amyloid
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้