หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Risankizumab กับข้อบ่งใช้ใหม่สำหรับรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กันยายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 898 ครั้ง
 
Risankizumab เป็น humanized monoclonal antibody ออกฤทธิ์ผ่านการจับกับ p19 subunit ของ interleukin-23 (IL-23) ทำให้ IL-23 ไม่สามารถจับกับ IL-23 receptor ซึ่งอยู่บนผิวของเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immune cells) และเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (adaptive immune cells) หลายชนิด เช่น natural killer cells, antigen-presenting cells, T-helper 17 cell, intraepithelial lymphocytes และ innate lymphoid cells ส่งผลลดการกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันและการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ในปัจจุบัน risankizumab มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรงที่สามารถรักษาด้วยยาหรือการฉายแสง (moderate-to-severe plaque psoriasis, eligible for systemic therapy or phototherapy) โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis) และโรคโครห์นระดับปานกลางถึงรุนแรง (moderately to severely active Crohn’s disease) และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 risankizumab ได้รับข้อบ่งใช้ใหม่ในการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรง (moderate to severe ulcerative colitis) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระบวนการอักเสบที่เกิดจาก IL-23 ในเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณทางเดินอาหารเช่นกัน

การศึกษาที่สนับสนุนการอนุมัติในข้อบ่งใช้ดังกล่าว ได้แก่ การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ชื่อ INSPIRE ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ randomized controlled trial เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ risankizumab สำหรับเหนี่ยวนำให้โรคสงบ (induction therapy) ในผู้ป่วย moderate to severe ulcerative colitis ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบดั้งเดิม (conventional therapies) และ/หรือการรักษาแบบขั้นสูง (advanced therapies) เช่น biologics, JAK inhibitors และ S1P receptor modulators โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ risankizumab รูปแบบ intravenous (IV) ขนาด 1,200 mg ในสัปดาห์ที่ 0, 4 และ 8 และกลุ่ม placebo พบว่าที่ 12 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับ risankizumab เข้าสู่ช่วงระยะโรคสงบ (clinical remission) มากกว่ากลุ่ม placebo อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้นยังมีการศึกษา COMMAND เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ risankizumab สำหรับควบคุมโรคให้ไม่กลับมาเป็นใหม่ (maintenance therapy) ในผู้ป่วย moderate to severe ulcerative colitis ที่มีการตอบสนองทางคลินิก (clinical response) หลังจากที่ได้รับ IV risankizumab ในช่วง induction therapy แล้ว โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับ risankizumab รูปแบบ subcutaneous (SC) ขนาด 180 mg หรือ 360 mg ทุก 8 สัปดาห์ เป็นเวลา 52 สัปดาห์ กับกลุ่ม placebo (risankizumab withdrawal) พบว่ากลุ่มที่ได้รับ risankizumab ขนาด 180 mg และ 360 mg มีอัตราการเกิดภาวะโรคสงบสูงกว่ากลุ่ม placebo อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนด้านความปลอดภัยพบว่ามีอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อรุนแรงที่คล้ายคลึงกันทั้ง 3 กลุ่ม สำหรับขนาดการรักษาของ risankizumab ในข้อบ่งใช้ moderate to severe ulcerative colitis คือ IV risankizumab ขนาด 1,200 mg ทุก 4 สัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในช่วง induction ตามด้วยขนาด 180 mg หรือ 360 mg รูปแบบ SC ทุก 8 สัปดาห์ ในช่วง maintenance โดยหลังจากช่วง induction สามารถให้ยาที่บ้านได้ด้วย on-body injector (OBI) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ยึดติดกับร่างกายและใช้เวลาในการนำส่งยาประมาณ 5 นาที

เอกสารอ้างอิง

1. Korta A, Kula J, Gomułka K. The role of IL-23 in the pathogenesis and therapy of inflammatory bowel disease. Int J Mol Sci. 2023 Jun 15; 24(12):10172.

2. Pang Y, D’Cunha R, Winzenborg I, Veldman G, Pivorunas V, Wallace K. Risankizumab: mechanism of action, clinical and translational science. Clin Transl Sci. 2024 Jan; 17(1):e13706.

3. Louis E, Panaccione R, Parkes G, Peyrin-Biroulet L, Ferrante M, Takeuchi K, el al. Risankizumab induction therapy in patients with moderately to severely active ulcerative colitis: efficacy and safety in the randomized phase 3 INSPIRE study. Am J Gastroenterol. 2023 Oct; 118:s624-625.

4. Louis E, Panaccione R, Parkes G, Peyrin-Biroulet L, Ferrante M, Hisamatsu T, et al. OP06 risankizumab maintenance therapy in patients with moderately to severely active ulcerative colitis: efficacy and safety in the randomised phase 3 COMMAND study. J Crohns Colitis. 2024 Jan 24; 19:i10-i12.

5. AbbVie Inc. Prescribing information of SKYRIZI® (risankizumab-rzaa) [Internet]. 2024 [cited 24 Jun 24]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2024/ 761105s029,761262s007lbl.pdf#page=64.09.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
risankizumab โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ ulcerative colitis IL-23 receptor antagonist
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้