หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Aroxybutynin + atomoxetine ยาความหวังในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 667 ครั้ง
 
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ obstructive sleep apnea (OSA) เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้นหย่อนตัวขณะหลับ ทำให้มีออกซิเจนไม่เพียงพอ สมองจึงตื่นตัวเป็นระยะ ส่งผลให้การนอนหลับของผู้ป่วยไม่มีประสิทธิภาพจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย ซึ่ง continuous positive airway pressure (CPAP) หรือ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหน้ากากที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอตลอดทั้งคืนจัดเป็นการรักษาอันดับ แรกในปัจจุบัน โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ CPAP ขณะนอนหลับทุกคืน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถใช้เครื่องนี้ได้เนื่องจากยังมีราคาแพง และในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาอื่นที่มีประสิทธิผลและความปลอดภัยมาแทนที่ได้

ล่าสุดมีการคิดค้นยารับประทานตัวใหม่ที่ใช้สำหรับภาวะหยุดหายใจขณะหลับชื่อว่า AD109 ซึ่งมีส่วนประกอบของ aroxybutynin และ atomoxetine ทั้งนี้เดิม aroxybutynin มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ส่วน atomoxetine ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น จากการศึกษา MARIPOSA RCTs ซึ่งการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ AD109 2.5/75 mg, AD109 5/75 mg, atomoxetine 75 mg และ placebo ในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับอายุ 18-75 ปี จำนวน 211 คน ที่มี AHI4 หรือการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนลดลงมากกว่าหรือเท่ากับ 4%) จำนวน 10 ถึง 45 ครั้งต่อชั่วโมงการนอนหลับ ใช้เวลาในการศึกษา 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับ AD109 2.5/75 mg ลด AHI4 ได้มากที่สุดคิดเป็น 47.1% เมื่อเทียบกับ placebo รวมทั้งยังเพิ่มการนอนในช่วง non-rapid eye movement (NREM) และลดการนอนในช่วง rapid eye movement (REM) อีกทั้งยังช่วยลดความเหนื่อยล้าระหว่างวันได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ atomoxetine และ placebo สำหรับด้านความปลอดภัยพบว่าทั้ง 4 กลุ่ม ไม่เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปากแห้ง นอนไม่หลับ และปัสสาวะออกช้า จากการศึกษาดังกล่าวทำให้กำลังมีการศึกษาเพื่อค้นหากลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะสมในการใช้ยาให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และอาจสามารถใช้ทดแทนการใช้ CPAP ขณะนอนหลับในทุกคืน

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ของ AD109 ที่ชัดเจนในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่คาดว่า AD109 ช่วยให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการทำงานของทางเดินหายใจทำงานได้ปกติ จากกลไกของ aroxybutynin ซึ่งยับยั้งผลของ acetylcholine ที่ muscarinic receptor ทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้น คลายตัว ร่วมกับ atomoxetine ที่เพิ่มระดับ norepinephrine ไปกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ ส่วนต้นให้เทียบเท่ากับตอนตื่นนอน คาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ข้างต้นช่วยส่งผลให้อากาศสามารถเข้าสู่ร่างกาย ได้มากขึ้นและนำมาสู่การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เอกสารอ้างอิง

1. สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย. คำแนะนำสำหรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทย สำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ. 2561 [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 13 มิถุนายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://sst.or.th/sleep/wp-content/uploads/2019/08/CPG-5-LOGO.pdf.

2. Schweitzer PK, Taranto-Montemurro L, Ojile JM, et al. The combination of aroxybutynin and atomoxetine in the treatment of obstructive sleep apnea (MARIPOSA): a randomized controlled trial. Am J Respir Crit Care Med. 2023 Dec 15; 208(12):1316-1327.

3. Ho V, Crainiceanu CM, Punjabi NM, et al. Calibration model for apnea-hypopnea indices: impact of alternative criteria for hypopneas. Sleep. 2015 Dec 1; 38(12):1887-92.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
หยุดหายใจขณะหลับ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก OSA Sleep apnea CPAP AD109 aroxybutynin atomoxetine
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้