หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การใช้แอสไพรินขนาดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาทางสมองของเด็ก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน เมษายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 3,811 ครั้ง
 
The American College of Obstetrics & Gynecology แนะนำการใช้แอสไพรินขนาดต่ำในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (pre-eclampsia) ในหญิงที่มีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ และหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเริ่มใช้แอสไพรินขนาดต่ำ (60-80 มิลลิกรัม) ในสัปดาห์ที่ 12 หรือ 28 ของการตั้งครรภ์ (แนะนำก่อนสัปดาห์ที่ 16)[1] ทั้งนี้ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้จากหลายกลไก โดยทฤษฎีหลัก เกี่ยวกับการพัฒนาที่ผิดปกติของรก ทำให้หลอดเลือดแดงสายสะดือไม่สมบูรณ์ จึงเกิดภาวะขาดเลือดตามมา ภาวะ ขาดเลือดนี้กระตุ้นการสร้างสารอักเสบและอนุมูลอิสระทำลายเยื่อบุผนังหลอดเลือด และกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือด แอสไพริน ซึึ่งยับยั้ง COX enzyme ลดการสร้าง thromboxane A2 จึงลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) และน่าจะสามารถช่วยป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษได้[2] ข้อมูลความปลอดภัยของทารกที่แม่ได้รับแอสไพรินขนาดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ในด้านพัฒนาการทางร่างกายถึงเด็กอายุ 18 เดือน พบการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ น้ำหนักและส่วนสูง ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มแอสไพรินและยาหลอก แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาด้านระบบประสาทและสมองในเด็กที่แม่ได้รับแอสไพรินขนาดต่ำระหว่างตั้งครรภ์[3]

ในเดือนมกราคม 2567 มีการตีพิมพ์การศึกษาแบบ randomized controlled trial ซึ่งเก็บข้อมูลในเด็กอายุ 33-39 เดือน จากแม่ที่ถูกสุ่มให้ได้รับแอสไพรินขนาดต่ำ (81 มิลลิกรัม) หรือยาหลอกระหว่างสัปดาห์ที่ 6-14 ของการตั้งครรภ์จนถึงสัปดาห์ที่ 37 และทำการศึกษาการพัฒนาของระบบประสาทโดยใช้ Bayley Scales of Infant and Toddler Development 3rd Edition (Bayley-III) เป็น primary outcome ซึ่งเป็นการประเมินพัฒนาการใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (cognitive skill) พัฒนาการด้านภาษา (language skill) และพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ (motor skill)[4] พบว่าเด็กกลุ่มที่แม่ได้รับแอสไพริน 81 มิลลิกรัม มี Bayley-III ในทั้ง 3 ด้านหลักไม่ต่างกับยาหลอก[5] จึงเป็นหนึ่งในหลักฐานด้านความปลอดภัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้แอสไพรินขนาดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาทางสมองของเด็ก รวมทั้งยังอาจนำไปสู่การพิจารณาขยายช่วงเวลาการเริ่มแอสไพรินขนาดต่ำจากคำแนะนำของ The American College of Obstetrics & Gynecology ที่แนะนำให้เริ่มในสัปดาห์ที่ 12 เป็นสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์

เอกสารอ้างอิง

1. ACOG Committee Opinion No. 743: Low-Dose Aspirin Use During Pregnancy. Obstet Gynecol. 2018; 132(1):e44-e52.

2. Bisson C, Dautel S, Patel E, Suresh S, Dauer P, Rana S. Preeclampsia pathophysiology and adverse outcomes during pregnancy and postpartum. Front Med (Lausanne). 2023; 10: 1144170.

3. CLASP: a randomised trial of low-dose aspirin for the prevention and treatment of pre-eclampsia among 9364 pregnant women. CLASP (Collaborative Low-dose Aspirin Study in Pregnancy) Collaborative Group. Lancet. 1994; 343(8898):619-629.

4. Balasundaram P, Avulakunta ID. Bayley Scales of Infant and Toddler Development. [Updated 2022 Nov 21]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK567715/.

5. Ren Y, Zhao Y, Yang X, Shen C, Luo H. Application of low dose aspirin in pre-eclampsia. Front Med (Lausanne). 2023; 10:1111371.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ครรภ์เป็นพิษ แอสไพริน พัฒนาการทางสมองของเด็ก
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้