หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Progesterone ชนิดรับประทานอาจช่วยลด vasomotor symptoms ในวัยใกล้หมดประจำเดือน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,510 ครั้ง
 
วัยใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) เป็นระยะเริ่มต้นก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (menopause) ผู้ที่เข้าสู่ภาวะนี้มักพบอาการเหงื่อออกช่วงกลางคืนและร้อนวูบวาบ (vasomotor symptoms: VMS) ช่องคลอดแห้ง นอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน[1] นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมี VMS รุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน[2] โดยปัจจุบันมีการรักษาอาการดังกล่าวด้วยฮอร์โมน estrogen (menopause hormone therapy) อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่าการใช้ estrogen เพียงชนิดเดียวอาจให้ประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอในการลดอาการ VMS จาก perimenopause เนื่องจากมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอาการ VMS ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับระดับ progesterone ที่ลดลงด้วย[3,4] จึงมีความพยายามในการศึกษาเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ฮอร์โมน progesterone ชนิดรับประทานเพื่อลดอาการ VMS

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 วารสาร Scientific Reports ได้เผยแพร่การศึกษาแบบ randomized, double-blind, controlled, phase 3 trial[5] ที่แสดงให้เห็นว่า progesterone ชนิดรับประทานมีแนวโน้มช่วยลดอาการ VMS ได้ โดยการศึกษานี้ทำในผู้ที่มีภาวะ perimenopause จำนวน 189 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ progesterone ขนาด 300 mg ก่อนนอน จำนวน 93 ราย และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกจำนวน 96 ราย พบว่ากลุ่มที่ได้รับ progesterone มีอาการเหงื่อออกช่วงกลางคืนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.023) และมีอาการจาก perimenopause ที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.017) ทั้งนี้ไม่พบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของ VMS score ซึ่งเป็นแบบวัดระดับความรุนแรงของ VMS ในกลุ่มที่ได้รับ progesterone เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (P=0.222) โดยรายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ progesterone ในการศึกษานี้ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาการทางกล้ามเนื้อและอาการบวมน้ำ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีอำนาจทางสถิติที่ไม่เพียงพอ (underpowered) เนื่องจากมีจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงอาจจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1. Troìa L, Martone S, Morgante G, Luisi S. Management of perimenopause disorders: hormonal treatment. Gynecol Endocrinol. 2021; 37(3):195-200.

2. Mitchell ES, Woods NF. Hot flush severity during the menopausal transition and early postmenopause: Beyond hormones. Climacteric. 2015; 18:536-544.

3. Prior JC. Progesterone for Symptomatic Perimenopause Treatment - Progesterone politics, physiology and potential for perimenopause. Facts Views Vis Obgyn. 2011; 3(2):109-120.

4. Casper RF, Dodin S, Reid RL. The effect of 20 ug ethinyl estradiol/1 mg norethindrone acetate (Minestrin TM), a low-dose oral contraceptive, on vaginal bleeding patterns, hot flashes, and quality of life in symptomatic perimenopausal women. Menopause. 1997; 4(3):139-147.

5. Prior JC, Cameron A, Fung M, et al. Oral micronized progesterone for perimenopausal night sweats and hot flushes a Phase III Canada-wide randomized placebo-controlled 4 month trial. Sci Rep. 2023; 13(1):9082.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
progesterone perimenopause vasomotor symptoms
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้