Bulevirtide มีประสิทธิภาพในการรักษา hepatitis D ชนิดเรื้อรัง
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน พฤศจิกายน ปี 2566 -- อ่านแล้ว 2,010 ครั้ง
ไวรัสตับอักเสบดี (hepatitis D virus; HDV) เป็นไวรัสที่ต้องอาศัย surface antigen ของไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ในการเข้าสู่เซลล์ตับของมนุษย์ โดยปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส hepatitis B ประมาณ 5% มีการติดเชื้อ HDV ร่วมด้วย ซึ่งหากมีการติดเชื้อทั้งสองร่วมกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะตับแข็ง ตับวาย หรือมะเร็งตับ[1] แม้ว่าปัจจุบันจะมีการนำ pegylated interferon alfa ที่มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อ hepatitis B และ hepatitis C มาใช้รักษาการติดเชื้อ HDV[2] อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่าการใช้ยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ HDV ซ้ำได้ใน 6 เดือนหลังจากหยุดยา[3] จึงมีความพยายามศึกษาเพื่อหายาที่มีผลต่อ HDV โดยตรง
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 วารสาร The New England Journal of Medicine ได้ตีพิมพ์การศึกษา ชื่อ MYR 301[4] ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ multicenter, open-label, randomized, phase 3 trial ที่แสดงให้เห็นว่า bulevirtide ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีประสิทธิภาพในการรักษา HDV ชนิดเรื้อรัง โดยการศึกษานี้ทำในผู้ป่วย HDV ชนิดเรื้อรังจำนวน 150 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ bulevirtide 2 mg ต่อวัน จำนวน 49 ราย กลุ่มที่ได้รับ bulevirtide 10 mg ต่อวัน จำนวน 50 ราย และกลุ่มที่ไม่ได้รับยาในช่วง 48 สัปดาห์แรก (control group) จำนวน 51 ราย พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาขนาด 2 mg และ 10 mg ต่อวัน ตอบสนองต่อยา 45% และ 48% ตามลำดับ ซึ่งมากกว่า control group ที่ตอบสนอง 2% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) โดยในสัปดาห์ที่ 48 กลุ่มที่ได้รับยาขนาด 2 mg และ 10 mg ต่อวัน ตรวจไม่พบระดับ HDV RNA ในร่างกาย (undetectable) 12% และ 20% ตามลำดับ (P=0.41) ทั้งนี้รายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ bulevirtide ในการศึกษานี้ ได้แก่ อาการปวดหัว อ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูง (eosinophilia) คันหรือมีผื่นแดงคันบริเวณที่ฉีดยา ปวดท้อง ปวดข้อ
ดังนั้นการใช้ bulevirtide ซึ่งเป็น lipopeptide ที่สังเคราะห์จาก pre-S1 domain บนเปลือกหุ้มของ HBsAg และออกฤทธิ์โดยยับยั้ง sodium taurocholate cotransporting polypeptide (NTCP) ที่เป็นโปรตีนบนเซลล์ตับ ทำให้เชื้อ HDV ไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ตับได้ น่าจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคนี้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Urban S, Neumann-Haefelin C, Lampertico P. Hepatitis D virus in 2021: virology, immunology and new treatment approaches for a difficult-to-treat disease. Gut. 2021; 70(9):1782-1794.
2. Farci P, Anna Niro G. Current and Future Management of Chronic Hepatitis D. Gastroenterol Hepatol (N Y). 2018; 14(6):342-351.
3. Wranke A, Hardtke S, Heidrich B, et al. Ten-year follow-up of a randomized controlled clinical trial in chronic hepatitis delta. J Viral Hepat 2020; 27:1359-1368.
4. Wedemeyer H, Aleman S, Brunetto MR, et al. A Phase 3, Randomized Trial of Bulevirtide in Chronic Hepatitis D. N Engl J Med. 2023; 389(1):22-32.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
bulevirtide
hepatitis D