หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

JAK inhibitors สำหรับรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม: ข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยล่าสุด

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ธันวาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,508 ครั้ง
 
Alopecia areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นโรคผมร่วงที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากภาวะแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disorder) ความเครียดรุนแรง และสิ่งแวดล้อม ทำให้ร่างกายมีการทำลายเซลล์รากผมบางบริเวณ เกิดภาวะผมร่วงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถเกิดกับขนบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน โดยจะพบในผู้ป่วยอายุประมาณ 30 ปี ปกติแล้วโรคนี้สามารถหายเองภายใน 1 ปี แต่หากมีอาการมากสามารถรักษาโดยการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทั้งรูปแบบรับประทานและใช้ภายนอก อย่างไรก็ตามหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้ใช้ยามักได้รับผลข้างเคียงของ steroid และเมื่อหยุดยาอาจสามารถกลับเป็นซ้ำอีกได้[1,2] จึงมีการศึกษายากลุ่มใหม่ที่มีผลต่อการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้ โดยพบว่า JAK inhibitors เป็นกลุ่มยาที่มีผลการศึกษาว่าสามารถบรรเทาอาการของโรคได้ จนในปัจจุบันมี JAK inhibitors ในรูปแบบยารับประทาน ได้แก่ baricitinib และ ritlecitinib ที่ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมแล้ว สำหรับยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ เช่น tofacitinib และ ruxolitinib ยังมีเพียงผลการศึกษาประสิทธิภาพในทางคลินิกเท่านั้น[3]

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของ JAK inhibitors เกิดขึ้นผ่านการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ JAK1, JAK2, JAK3 และ TYK2 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่กระตุ้นโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อ signal transducers and activators of transcription (STAT) เรียกรวมกลุ่มโปรตีนที่มีบทบาทในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันนี้ว่า JAK-STAT pathway ดังนั้น JAK inhibitors จึงลดการทำงานของภูมิคุ้มกันที่มากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะแพ้ภูมิตัวเอง[3] โดยล่าสุดมีการศึกษาในรูปแบบการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาน ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร JAMA Network Open เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2023 เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ JAK inhibitors ทั้งในรูปแบบใช้ภายนอก ได้แก่ ruxolitinib และ delgocitinib และรูปแบบรับประทาน ได้แก่ ritlecitinib, brepocitinib, deuruxolitinib (CTP-543) และ baricitinib ในผู้ป่วย alopecia areata โดยทำการศึกษาในผู้ป่วย 1,710 คน อายุประมาณ 36 ปี พบว่า JAK inhibitors ช่วยลดอาการของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก และการใช้ในรูปแบบรับประทานมีผลดีกว่ารูปแบบใช้ภายนอก สำหรับอาการไม่พึงประสงค์พบค่อนข้างน้อยและไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว เนื่องจากการศึกษานี้ติดตามผลเพียง 12-36 สัปดาห์[4]

ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วงเป็นหย่อมที่ได้รับการรักษาด้วยสเตียรอยด์แล้วไม่ตอบสนองหรือมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น การใช้ JAK inhibitors จึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา อย่างไรก็ตามการใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง

1. สมยศ จารุวิจิตรรัตนา. ผู้ป่วยโรคผมร่วงและผมบาง [internet]. 2011. [cited 2023 Jul 12]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/ medicinebook1/Ptn-Alopecia.pdf.

2. Bolduc C. Alopecia Areata Treatment & Management. Medscape [internet]. 2023. [cited 2023 Jul 12]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/ 1069931-treatment

3. JAK inhibitors เป็นมากกว่ายารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์. ข่าวยา [internet]. 2560. [cited 2023 Jul 12]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full. php?id=1419.

4. Liu M, Gao Y, Yuan Y, et al. Janus Kinase Inhibitors for Alopecia Areata: A Systematic Review and Meta-Analysis. JAMA Netw Open. 2023; 6(6):e2320351.doi:10.1001/ jamanetworkopen.2023.20351.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
JAK inhibitors โรคผมร่วงเป็นหย่อม alopecia areata
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้