Low dose oral minoxidil…รักษาภาวะผมร่วงจากยาเคมีบำบัด
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2566 -- อ่านแล้ว 2,217 ครั้ง
ผมร่วง เป็นอาการข้างเคียงที่สร้างปัญหาหนักใจสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยเคมีบำบัด แม้ว่า minoxidil ในรูปแบบยาทาภายนอก (topical minoxidil) จะเป็นยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันสำหรับทาบริเวณที่มีผมหลุดร่วง แต่พบว่าผู้ป่วยหลายคนยังคงได้รับผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ จึงมีงานวิจัยล่าสุดที่เป็น retrospective cohort study ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานวิจัย 56 ราย พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้ minoxidil ชนิดรับประทาน ในขนาดต่ำ (low dose oral minoxidil: LDOM) 1.25-5 mg ร่วมกับการใช้ topical minoxidil มีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี คิดเป็น 66% (37 จาก 56 ราย) ซึ่งวัดได้จากระดับความรุนแรงของภาวะผมร่วงที่ลดลง และปริมาณความหนาเเน่น ของเส้นผมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ topical minoxidil อย่างเดียว อย่างไรก็ตามข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวมาทำในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ทั้งยังพบว่าความหนาของเส้นผม (hair thickness) ไม่ได้ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเพียง topical minoxidil อย่างเดียว รวมทั้งอาการข้างเคียงที่พบในกลุ่ม ที่ได้รับยารับประทานและยาทาร่วมกัน ได้แก่ ภาวะขนดกขึ้นทั่วร่างกายมากผิดปกติ (hypertrichosis) 13.5% (5 จาก 37 ราย) บวม 5.4% (2 จาก 37 ราย) ปวดศีรษะ/มึนงง 2.7% (1 จาก 37 ราย) และมีผู้ที่ต้องถอนตัว 1 ราย เนื่องจากพบอาการบวมที่เปลือกตา (periorbital edema)
ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าการใช้ minoxidil ทั้งแบบรับประทานและแบบทาภายนอกร่วมกัน ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ใช้ยาเคมีบำบัดรักษา และมีความเป็นไปได้ที่จะนำผลงานวิจัยนี้ไปสู่การประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
1. Kang J, Lee JW. Kwon O. Efficacy of low-dose oral minoxidil in the management of anticancer therapy-induced alopecia in patients with breast cancer: A retrospective cohort study. Journal of the American Academy of Dermatology. 2022:1-7.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
oral minoxidil
alopecia
breast cancer
chemotherapy