แนวทางล่าสุดในการใช้ยาควบคุมน้ำหนักสำหรับรักษาโรคอ้วน โดย American Gastroenterological Association
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 2,384 ครั้ง
ความชุกของโรคอ้วนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 30.5% เป็น 41.9% ในช่วงปี 2000 ถึง 2020 ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคอ้วน เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โรคเบาหวานประเภทที่ 2 (type 2 diabetes mellitus) โรคตับคั่งไขมันที่มีภาวะตับอักเสบ (nonalcoholic steatohepatitis) โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) โรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) และโรคมะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer) เป็นต้น การรักษาโรคอ้วนด้วยการใช้ยาช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วนได้ ซึ่ง American Gastroenterological Association (AGA) ได้แนะนำแนวทางการรักษาเพื่อให้บุคลากรทางสาธารณสุขใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ยารักษาโรคอ้วนในผู้ใหญ่ที่ไม่ตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้แม้ว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการจัดการโรคอ้วน แต่มักมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพและระยะเวลาของแต่ละบุคคล
แนวทางการใช้ยาของ AGA ซึ่งอ้างอิงจากหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือระดับปานกลางระบุยาที่แนะนำเป็นลำดับแรก ได้แก่ semaglutide เนื่องจากประโยชน์ในด้านของการลดน้ำหนักและมีความเสี่ยงในการหยุดใช้ยาต่ำ สำหรับ liraglutide สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่เชื่อว่าอาจให้ประสิทธิผลน้อยกว่า semaglutide ส่วน phentermine-topiramate extended-release (ER) แนะนำในผู้ป่วยที่มีภาวะปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย โดยให้หลีกเลี่ยงในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ และ naltrexone-bupropion (ER) ซึ่งแนะนำในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ให้หลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคลมชักและใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดลมชัก นอกจากนี้ยังแนะนำ phentermine และ diethylpropion โดยแนะนำให้ใช้ไม่เกิน 12 สัปดาห์เท่านั้นและควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดแม้ยาทั้งสองชนิดนี้จะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือต่ำกว่า
ทั้งนี้แนวทางการรักษายังระบุให้หลีกเลี่ยงการใช้ orlistat เนื่องจากให้ประสิทธิผลน้อยและโอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยผู้ป่วยที่ได้รับ orlistat ควรได้รับวิตามินรวมทุกวัน โดยเฉพาะวิตามินเอ ดี อีและเค โดยรับประทานห่างจาก orlistat อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ส่วนการใช้ Gelesis100TM (superabsorbent hydrogel) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์สำหรับควบคุมน้ำหนักยังมีหลักฐานไม่เพียงพอในปัจจุบัน
สำหรับแนวทางการรักษาของ AGA นี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรฐานของการรักษา แต่เพื่อเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง: Grunvald E, Shah R, Hernaez R, Chandar AK, Pickett-Blakely O, Teigen LM, et al. AGA Clinical Practice Guideline on Pharmacological Interventions for Adults With Obesity. Gastroenterology. 2022;163:1198-225.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
American Gastroenterological Association
AGA
โรคอ้วน
ยาลดความอ้วน