หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Furosemide...ยาฉีดรูปแบบใหม่ชนิดพกพาได้ สำหรับรักษาโรคหัวใจวายเรื้อรัง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2565 -- อ่านแล้ว 7,690 ครั้ง
 
โรคหัวใจวายหรือโรคหัวใจล้มเหลว (heart failure) พบได้มาก ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ ยาหลักที่ใช้เพื่อลดภาวะบวมน้ำคือยาขับปัสสาวะ ยาช่วยขับโซเดียมและน้ำออกจากร่างกาย มียาขับปัสสาวะหลายชนิดที่นำมาใช้รวมถึง furosemide ในการรักษาโรคหัวใจวายเมื่อยาขับปัสสาวะชนิดรับประทานให้ผลไม่เพียงพอจำเป็นต้องให้โดยการฉีด และอาจต้องให้แบบ infusion ทำให้เกิดความไม่สะดวกเนื่องจากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล

Furosemide เป็น loop diuretic นอกจากใช้ลดภาวะบวมน้ำในโรคหัวใจวายแล้ว ยังใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, pulmonary edema และใช้ลดภาวะบวมน้ำในโรคอื่น รูปแบบยาที่มีใช้ขณะนี้มีทั้งยาเม็ด (ขนาด 20, 40 และ 80 มิลลิกรัม), ยาน้ำสำหรับรับประทาน (ความแรง 8 และ 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) และยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (ความแรง 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) อาจพบความแรงต่างไปจากที่ระบุข้างต้นได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มี furosemide รูปแบบใหม่ที่ได้รับอนุมัติแล้วในบางประเทศ เป็นยาฉีดชนิดพกพาซึ่งผู้ป่วยสามารถฉีดยาได้เอง มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะบวมน้ำในผู้ป่วยโรคหัวใจวายเรื้อรังที่มีอาการในขั้น New York Heart Association (NYHA) Class II และ Class III เพิ่มความสะดวกที่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ยาฉีด furosemide ชนิดพกพาได้นี้เป็นยาน้ำที่มี pH เป็นกลาง ในปริมาตร 10 มิลลิลิตรมีตัวยา 80 มิลลิกรัมบรรจุในกระบอกยาสำหรับการใช้ครั้งเดียว (single-dose prefilled cartridge) มาพร้อมกับอุปกรณ์ติดหน้าท้องที่ช่วยในการให้ยาโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังอย่างช้า ๆ (on-body infusor) โดยปล่อยยาตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ในขนาด 80 มิลลิกรัมให้ยานาน 5 ชั่วโมง โดยใน 1 ชั่วโมงแรกปล่อยยา 30 มิลลิกรัม จากนั้นปล่อยในอัตรา 12.5 มิลลิกรัมต่อชั่วโมงเป็นเวลาอีก 4 ชั่วโมง คาดว่าจะผลิตออกจำหน่ายได้ในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2023 ยานี้ไม่ใช้ในรายที่มีอาการฉุกเฉินกรณีใด ๆ และไม่ใช้ในการรักษา acute pulmonary edema ผลการศึกษาในผู้ป่วยโรคหัวใจวายระดับ NYHA Class II-III พบว่า furosemide ชนิดยาฉีดแบบพกพาให้ค่า bioavailability 99.6% (90% CI, 94.8-104.8) ระยะเวลาที่ได้ระดับยาสูงสุดมีค่ากลางที่ 4 ชั่วโมง เทียบกับ furosemide ขนาด 80 มิลลิกรัมที่ให้เข้าหลอดเลือดดำ (ให้ 40 มิลลิกรัม 2 ครั้งแบบ bolus dose ห่างกัน 120 นาที)

อ้างอิงจาก:

(1) Khan TM, Patel R, Siddiqui AH. Furosemide, update: June 3, 2022. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499921/; (2) Update - scPharmaceuticals announces FDA approval of Furoscix® (furosemide injection), the first and only self-administered, subcutaneous loop diuretic for the at-home treatment of congestion in chronic heart failure, October 10, 2022. https://scpharmaceuticalsinc.gcs-web.com/news-releases/news-release-details/update-scpharmaceuticals-announces-fda-approval-furoscixr
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้