หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) กับความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กันยายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 3,087 ครั้ง
 
มีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนไม่น้อยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) เป็นที่ทราบกันว่าการใช้ NSAIDs มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าการใช้ NSAIDs ในผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้นเพียงใด เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่นำเสนอใน European Society of Cardiology Congress ที่เมือง Barcelona ในประเทศสเปน งานวิจัยนี้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการใช้ NSAIDs ระยะสั้นไม่เกิน 28 วัน กับภาวะหัวใจล้มเหลวที่เพิ่งเกิดขึ้น การศึกษาเป็นแบบ observational study ทำในประเทศเดนมาร์ก โดยการเก็บข้อมูลที่มีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ถึง 2021 มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 รวม 331,189 คน (44% เป็นผู้หญิง) อายุเฉลี่ย 62 ปี ผู้ป่วยไม่เคยมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวจนต้องเข้าโรงพยาบาลมาก่อน ยาที่ใช้เป็นชนิดรับประทานที่ผู้ป่วยได้รับผ่านใบสั่งยาจำนวน 1-3 ชนิด ได้แก่ celecoxib, diclofenac, ibuprofen และ naproxen ส่วนใหญ่เป็น ibuprofen (12.2%) ตามด้วย diclofenac (3.3%), naproxen (0.9%) และ celecoxib (0.4%) ระยะเวลาในการติดตามผลมีค่ากลาง 5.85 ปี พบว่ามีผู้ป่วย 23,308 รายที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก ความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวการใช้ NSAIDs คิดเป็น 1.43 เท่า (เป็นค่า odds ratio, ค่า 95% CI=1.27-1.63) เมื่อแยกวิเคราะห์ผลตามชนิดยาพบว่าความเสี่ยงจากการใช้ diclofenac คิดเป็น 1.48 เท่า (95% CI=1.10-2.00) และ ibuprofen คิดเป็น 1.46 เท่า (95% CI=1.26-1.69) ส่วน celecoxib และ naproxen ไม่เพิ่มความเสี่ยง (ในการศึกษานี้มีสัดส่วนผู้ที่ใช้ยาทั้งสองชนิดนี้น้อย) เมื่อแยกวิเคราะห์ผลตามค่า glycated hemoglobin (HbA1c) พบว่าความเสี่ยงไม่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่มีระดับ glycated hemoglobin ในเกณฑ์ปกติ (ต่ำกว่า 48 mmol/mol ซึ่งแสดงว่าคุมโรคเบาหวานได้ดี) เมื่อแยกวิเคราะห์ผลตามอายุพบความสัมพันธ์สูงในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี แต่ไม่พบความสัมพันธ์ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี นอกจากนี้พบความสัมพันธ์สูงมากในผู้ที่ใช้ยาไม่บ่อยนักหรือผู้ที่ใช้ยารายใหม่ โดยสรุปแม้ว่าการศึกษานี้จะเป็น observational study ซึ่งไม่อาจนำไปสรุปว่าการใช้ NSAIDs จะเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 แต่ควรนำไปเป็นข้อมูลประกอบการใช้ NSAIDs ในผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 ว่ามีศักยภาพในการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวแม้ใช้ระยะสั้นไม่เกิน 28 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากและควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี ในทางกลับกันผลการศึกษานี้แสดงถึงว่าการใช้ NSAIDs ระยะสั้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีและควบคุมโรคได้ดีอาจมีความปลอดภัย (ความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ต่างจากผู้ที่ไม่ได้ใช้ NSAIDs)

อ้างอิงจาก:

(1) Karwi QG, Ho KL, Pherwani S, Ketema EB, Sun Q, Lopaschuk GD. Concurrent diabetes and heart failure: interplay and novel therapeutic approaches. Cardiovasc Res 2022;118:686-715; (2) Non-steroidal anti-inflammatory drugs linked with heart failure in patients with diabetes, news release: August 23, 2022. Reports and Proceedings of European Society of Cardiology. https://www.eurekalert.org/news-releases/962235; (3) Short-term NSAID use may increase risk for first-time HF hospitalization in diabetes, news release: September 01, 2022. https://www.healio.com/news/cardiology/20220901/shortterm-nsaid-use-may-increase-risk-for-firsttime-hf-hospitalization-in-diabetes
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้