Statins...มีการเปลี่ยนแปลงข้อห้ามใช้ในผู้หญิงมีครรภ์
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน สิงหาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 8,716 ครั้ง
Statins หรือ 3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-coenzyme A reductase inhibitors (HMG-CoA reductase inhibitors) ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ atorvastatin, fluvastatin, lovastatin, pitavastatin, pravastatin, rosuvastatin และ simvastatin เป็นยาลดไขมันในเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด heart attack และ stroke นับตั้งแต่มียาตัวแรกในกลุ่มนี้ออกวางจำหน่ายได้มีข้อห้ามใช้ในผู้หญิงมีครรภ์และผู้หญิงให้นมบุตร เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ทั้งความกังวลว่าการมีระดับ cholesterol ลดลงอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอด อีกทั้งการลดไขมันในเลือดช่วงสั้นขณะตั้งครรภ์และให้นมทารกก็ไม่ได้ให้ประโยชน์มากมายแต่ประการใดต่อมารดาในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ทำให้ยาตัวอื่น ๆต่อมามีข้อห้ามใช้ในทำนองเดียวกัน
จนเมื่อไม่นานมานี้หน่วยงาน FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยของ statins เปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานจากการศึกษาแบบ meta-analysis หลายการศึกษาที่นำข้อมูลมาจากการศึกษาแบบ randomized trial ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของ statins ในการป้องกัน cardiovascular event นอกจากนี้ข้อมูลจาก observational study พบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการรักษาด้วย statins ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกที่คลอดมีความพิการ (major birth defects) หากมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น โรคเบาหวาน และไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ายาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร นอกจากนี้ข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองคาดว่าการใช้ statins มีศักยภาพไม่มากนัก (limited potential) ที่จะทำให้ลูกพิการหรือแท้งลูก อีกทั้งมีศักยภาพไม่มากนักที่จะมีผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทของลูกในท้อง อย่างไรก็ตามการที่ statins ลดการสร้าง cholesterol และอาจรวมถึงสารอื่นที่ใช้ cholesterol เป็นสารตั้งต้น จึงเป็นไปได้ว่ายาอาจส่งผลเสียบางประการต่อทารกในครรภ์ ด้วยเหตุนี้ในผู้หญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม statins แต่ผู้หญิงมีครรภ์บางรายอาจมีการพิจารณาให้ใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิด cardiovascular event ในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ผู้ที่ป่วย homozygous familial hypercholesterolemia หรือผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด
ด้วยเหตุนี้หน่วยงาน FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงให้ข้อมูลและข้อแนะนำที่เกี่ยวกับหัวข้อ “ข้อมูลสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร (pregnancy and breastfeeding information)” ของ statins ไปยังบุคลากรทางการแพทย์โดยมีสาระสำคัญดังนี้
Statins มีความปลอดภัยในผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงโดยทั่วไปไม่จำเป็นในช่วงตั้งครรภ์ ภาวะ atherosclerosis เป็นกระบวนการที่เกิดแบบเรื้อรัง การหยุดใช้ยาชั่วคราวช่วงตั้งครรภ์น่าจะส่งผลกระทบน้อยต่อผลการรักษาระยะยาวสำหรับ primary hyperlipidemia ในผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่
หลักฐานยังไม่เพียงพอว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการรักษาด้วย statins จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร และข้อมูลจาก observational study พบว่า statins ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกมีความพิการเมื่อคลอด หากมีการควบคุมปัจจัยกวนอื่น
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า statins มีศักยภาพไม่มากนักที่จะทำลูกพิการ หรือมีผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทของลูกในท้อง หรือแท้งลูก
statins ลดการสร้าง cholesterol และอาจรวมถึงสารอื่นที่ใช้ cholesterol เป็นสารตั้งต้น จึงเป็นไปได้ว่ายาอาจส่งผลเสียบางประการต่อทารกในครรภ์
ผู้หญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม statins
ผู้หญิงมีครรภ์บางรายอาจพิจารณาให้ใช้ยาในกลุ่ม statins ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิด cardiovascular event ในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ผู้ที่ป่วย homozygous familial hypercholesterolemia หรือผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด
statins บางส่วนออกทางน้ำนมได้ ผู้หญิงหลายคนสามารถหยุดยาชั่วคราวเพื่อให้นมบุตร ในรายที่จำเป็นต้องใช้ยาควรหยุดการให้นมและใช้ผลิตภัณฑ์นมสำหรับเลี้ยงทารกให้แทนไปก่อน
อ้างอิงจาก:
(1) USFDA. FDA requests removal of strongest warning against using cholesterol-lowering statins during pregnancy; still advises most pregnant patients should stop taking statins, breastfeeding not recommended in patients who require statins. 7-20-2021 FDA Drug Safety Communication. https://www.fda.gov/media/150774/download; (2) Vahedian-Azimi A, Makvandi S, Banach M, Reiner Ž, Sahebkar A. Fetal toxicity associated with statins: a systematic review and meta-analysis. Atherosclerosis 2021;327:59-67.