โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โรคมะเร็งปอดชนิดที่พบมากคือ non-small-cell lung cancer (NSCLC) พบประมาณ 80-85% และชนิด small-cell lung cancer (SCLC) พบประมาณ 15-17% มียากลุ่มต่าง ๆ มากมายที่นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งปอด ในผู้ป่วย NSCLC พบ proto-oncogene ได้หลายชนิด เช่น
EGFR (epidermal growth factor receptor),
ALK (anaplastic lymphoma kinase),
MET (mesenchymal-epithelial transition),
KRAS (K-ras protein, GTPase) จึงมีความพยายามในการคิดค้นยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางยีนที่ผิดปกติเหล่านี้เพื่อนำมาใช้รักษา NSCLC ชนิดที่รักษายาก เมื่อเร็ว ๆนี้มียาใหม่คือ amivantamab (ชื่ออื่น: amivantamab-vmjw การเรียกชื่อยาที่มีอักษร 4 ตัวต่อท้ายชื่อหลัก ดูข้อมูลในเรื่อง
ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 2)) ที่มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ต่อยีน
EGFR ที่เกิด exon 20 insertion mutation ซึ่งการเกิด mutation แบบนี้พบได้ 2-3% ของผู้ป่วย NSCLC ยานี้เป็น monoclonal antibody ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ extracellular domain ได้ทั้ง EGFR และ MET (EGFR-MET bispecific antibody) ยาดังกล่าวได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนในบางประเทศเพื่อใช้รักษา NSCLC ในผู้ใหญ่ชนิดที่พบ
EGFR exon 20 insertion mutation ซึ่งโรคอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายแม้ได้รับการรักษาด้วย platinum-based chemotherapy ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาน้ำใสสำหรับฉีด มีตัวยา 350 มิลลิกรัมในปริมาตร 7 มิลลิลิตร บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 80 กิโลกรัมให้ใช้ในขนาด 1,050 มิลลิกรัม ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 80 กิโลกรัมขึ้นไปให้ใช้ในขนาด 1,400 มิลลิกรัม โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ ให้ยาทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยในสัปดาห์แรกแบ่งให้ 2 ครั้งในวันแรกและวันรุ่งขึ้น หลังจาก 4 สัปดาห์ไปแล้วให้ยาทุก 2 สัปดาห์ ใช้ยาต่อเนื่องจนควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือจนทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้
มีการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ amivantamab เป็น multicenter, open-label, multi-cohort clinical trial ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งปอดชนิด NSCLC จำนวน 81 คน โรคอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายและพบความผิดปกติในยีน
EGFR (เกิด exon 20 insertion) ซึ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย platinum-based chemotherapy มาแล้ว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 80 กิโลกรัมให้ยาขนาด 1,050 มิลลิกรัม และผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 80 กิโลกรัมขึ้นไปให้ยาขนาด 1,400 มิลลิกรัม โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ ให้ยาทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ยาทุก 2 สัปดาห์ ใช้ยาต่อเนื่องจนควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือจนทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้ ประเมินผลด้วย overall response rate (ORR) และ duration of response (DOR) ผลการศึกษาพบว่า ORR 40% (complete response 3.7% และ partial response 36%) ส่วน DOR มีค่ากลางเท่ากับ 11.1 เดือน มีผู้ป่วย 63% ที่มี DOR ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย (≥20%) ได้แก่ ผื่นขึ้น, ปฏิกิริยาที่เกิดจากการหยดยา, ติดเชื้อที่ผิวหนังรอบเล็บ, ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก, หายใจลำบาก, คลื่นไส้, อาเจียน, อ่อนล้า, บวมน้ำ, เยื่อบุช่องปากอักเสบ, ไอ และท้องผูก ส่วนผลทางห้องปฏิบัติการที่เกิดในความรุนแรงระดับ 3 หรือ 4 ที่พบบ่อย (≥2%) ได้แก่ การลดลงของลิมโฟไซต์, อัลบูมิน, ฟอสเฟต, โพแทสเซียมและเดียม และการเพิ่มขึ้นของ alkaline phosphatase, gamma-glutamyl transferase และกลูโคส
อ้างอิงจาก:
(1) Rybrevant (amivantamab-vmjw) injection, for intravenous use. Reference ID: 4798968, revised: 05/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761210s000lbl.pdf; (2) Remon J, Hendriks LEL, Cardona AF, Besse B. EGFR exon 20 insertions in advanced non-small cell lung cancer: A new history begins. Cancer Treat Rev 2020. doi: 10.1016/j.ctrv.2020.102105; (3) Yun J, Lee SH, Kim SY, Jeong SY, Kim JH, Pyo KH, et al. Antitumor activity of amivantamab (JNJ-61186372), an EGFR-MET bispecific antibody, in diverse models of EGFR exon 20 insertion-driven NSCLC. Cancer Discov 2020;10:1194-209.