หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Serdexmethylphenidate/dexmethylphenidate…ยาสูตรผสมสำหรับรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มีนาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 1,385 ครั้ง
 
Dexmethylphenidate เป็น d-enantiomer ของ methylphenidate ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder; ADHD) มานานแล้ว กลไกในการรักษาโรคดังกล่าวของ methylphenidate ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ยาออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ยับยั้ง reuptake ของ norepinephrine และ dopamine ไม่ให้เข้าสู่ presynaptic neuron ทำให้เพิ่ม monoamines เหล่านี้ใน synaptic space และเพิ่มผลในระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้เกิดการตื่นตัวและมีความตั้งใจมากขึ้น ส่วน serdexmethylphenidate เป็น prodrug ของ dexmethylphenidate ที่เริ่มออกฤทธิ์ช้าแต่ฤทธิ์คงอยู่นานกว่า dexmethylphenidate เมื่อไม่นานมานี้มียาสูตรผสม คือ serdexmethylphenidate/dexmethylphenidate ออกวางจำหน่ายในบางประเทศ ผลิตเป็นยาแคปซูล มี 3 ความแรง คือ 26.1/5.2, 39.2/7.8 และ 52.3/10.4 มิลลิกรัม สำหรับรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ขนาดยาที่แนะนำ คือ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทาน 39.2/7.8 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้าพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ และหลังจากใช้ยาไป 1 สัปดาห์ อาจเพิ่มขนาดเป็น 52.3/10.4 มิลลิกรัม หรือลดเหลือ 26.1/5.2 มิลลิกรัม ขนาดสูงสุดไม่เกิน 52.3/10.4 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ส่วนในเด็กที่มีอายุ 13-17 ปีและผู้ใหญ่ เริ่มด้วยขนาด 39.2/7.8 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ตอนเช้า ภายหลังใช้ยาไป 1 สัปดาห์ อาจเพิ่มขนาดเป็น 52.3/10.4 มิลลิกรัม

มีการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ serdexmethylphenidate/dexmethylphenidate เป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled, parallel group, analog classroom study ในเด็กอายุ 6-12 ปีที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำนวน 150 คน ในช่วง 3 สัปดาห์แรกเป็นการหาขนาดยาที่เหมาะสม (dose-optimization period) เริ่มด้วยขนาด 39.2/7.8 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ภายหลังใช้ยาไป 1 สัปดาห์ อาจเพิ่มขนาดเป็น 52.3/10.4 มิลลิกรัม หรือลดเหลือ 26.1/5.2 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง จากนั้นแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้ serdexmethylphenidate/dexmethylphenidate ในขนาดยาที่เหมาะสม (n=74) หรือให้ยาหลอก (n=76) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ประเมินผลเมื่อสิ้นสุดการให้ยาโดยใช้ Swanson, Kotkin, Agler, M-Flynn, and Pelham (SKAMP) rating scale ใน laboratory classroom setting ในวันประเมินผลให้ยาหรือยาหลอกทันทีหลังอาหารเช้า ประเมินผลในช่วงเวลาต่าง ๆ จนถึง 13 ชั่วโมงหลังได้รับยาหรือยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ได้รับยามี SKAMP-Combined Scores เฉลี่ยลดลงจาก baseline มากกว่ากลุ่มยาหลอก ค่า least-squares mean (SE) เท่ากับ -4.87 (0.62) เทียบกับ 0.54 (0.70) ส่วนประสิทธิภาพของ serdexmethylphenidate/dexmethylphenidate ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13-17 ปี ประเมินโดยการเทียบค่าทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาในขนาด 52.3/10.4 มิลลิกรัม กับ dexmethylphenidate hydrochloride extended-release capsules สำหรับผลไม่พึงประสงค์นั้น จากการศึกษาทางคลินิกเป็นการใช้ยาช่วงสั้นจึงยังไม่อาจพยากรณ์อัตราการเกิดได้ แต่จากข้อมูลสะสมของผลิตภัณฑ์ methylphenidate ทั้งหลาย ผลไม่พึงประสงค์ที่พบ >5% และเกิน 2 เท่าของยาหลอก ได้แก่ ความอยากอาหารลดลง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง น้ำหนักตัวลดลง วิตกกังวล เวียนศีรษะ หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น

อ้างอิงจาก:

(1) Azstarys (serdexmethylphenidate and dexmethylphenidate) capsules, for oral use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4755866, revised: 3/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/212994s000lbl.pdf; (2) Childress AC, Komolova M, Sallee R. An update on the pharmacokinetic considerations in the treatment of ADHD with long-acting methylphenidate and amphetamine formulations. Expert Opin Drug Metab Toxicol 2019;15:937-74.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้