หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Tepotinib…kinase inhibitor/MET inhibitor ชนิดใหม่สำหรับรักษาโรคมะเร็งปอด (ชนิด NSCLC)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มีนาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 2,680 ครั้ง
 
โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โรคมะเร็งปอดชนิดที่พบมากคือ non-small-cell lung cancer (NSCLC) พบประมาณ 80-85% และชนิด small-cell lung cancer (SCLC) พบประมาณ 15-17% มียากลุ่มต่าง ๆ มากมายที่ใช้รักษาโรคมะเร็งปอด ปัจจุบัน immune checkpoint inhibitors เช่น nivolumab, pembrolizumab, durvalumab มีบทบาทมากในการรักษาโรคมะเร็งปอดทั้งชนิด NSCLC และ SCLC ในผู้ป่วย NSCLC พบ proto-oncogene ได้หลากหลายชนิด ในจำนวนนี้พบ MET (mesenchymal-epithelial transition) mutation (เกิด MET exon 14 skipping) ราว 3-4% ซึ่ง MET mutation พบในรายที่โรคลุกลามหรือแพร่กระจายและยากต่อการรักษา โดยเฉพาะในคนที่มีอายุกว่า 70 ปี

MET mutation พบในโรคมะเร็งหลายชนิด นอกจาก NSCLC แล้วยังพบในโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งไต โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น ก่อนหน้านี้มียาที่ออกฤทธิ์เจาะจงในการยับยั้ง tyrosine kinase ที่ MET protein ออกวางจำหน่ายเพื่อใช้รักษา NSCLC ในผู้ใหญ่ที่โรคอยู่ในระยะแพร่กระจายและพบความผิดปกติใน MET protein (MET exon 14 skipping) คือ capmatinib เมื่อไม่นานมานี้ tepotinib เป็นยาชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อ MET protein ยานี้ได้รับอนุมัติแล้วในบางประเทศเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งปอดชนิด NSCLC ในผู้ใหญ่ที่โรคอยู่ในระยะแพร่กระจายและพบความผิดปกติใน MET protein (MET exon 14 skipping) เช่นเดียวกัน ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาเม็ดขนาด 225 มิลลิกรัม ขนาดที่แนะนำ คือ 450 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร ใช้ต่อเนื่องจนควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือจนทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้

มีการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ tepotinib ในข้อบ่งใช้ข้างต้น เป็นการศึกษาแบบ single-arm, open-label, multicenter, non-randomized, multicohort study ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งปอดชนิด NSCLC ระยะลุกลามหรือแพร่กระจายที่มี MET exon 14 skipping, epidermal growth factor receptor (EGFR) wild-type และ anaplastic lymphoma kinase (ALK) negative แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาใดมาก่อน (n=69) และกลุ่มที่เคยได้รับการรักษาด้วยยาอื่นมาแล้ว (n=83) ซึ่ง 89% ของผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย platinum-based chemotherapy ให้ยา tepotinib แก่ผู้ป่วยเหล่านี้ในขนาด 450 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ให้ยาต่อเนื่องจนควบคุมโรคไม่ได้หรือจนทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้ ผลการตอบสนองในทั้งสองกลุ่มคิดเป็น overall response rate เท่ากัน คือ 43% (95% CI =32-56) และ 43% (95% CI=33-55) ส่วนระยะเวลาที่ยาให้ผลควบคุมโรคได้ในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีค่ากลาง (median) เท่ากับ 10.8 เดือน และ 11.1 เดือน ผลไม่พึงประสงค์ของ tepotinib ที่พบ ≥20% ได้แก่ บวมน้ำ อ่อนล้า คลื่นไส้ ท้องเดิน หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ส่วนผลทางห้องปฏิบัติการที่เกิด Grade 3-4 ซึ่งพบ ≥2% ได้แก่ การลดลงของลิมโฟไซต์ อัลบูมิน โซเดียมและฮีโมโกลบิน และการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ gamma-glutamyltransferase, alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate transaminase (AST)

อ้างอิงจาก:

(1) Tepmetko (tepotinib) tablets, for oral use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4738099, revised: 2/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/214096s000lbl.pdf; (2) Hong L, Zhang J, Heymach JV, Le X. Current and future treatment options for MET exon 14 skipping alterations in non-small cell lung cancer. Ther Adv Med Oncol 2021. doi: 10.1177/1758835921992976; (3) Alexander M, Kim SY, Cheng H. Update 2020: management of non-small cell lung cancer. Lung 2020;198:897-907.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้