ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 (coronavirus disease 2019; COVID-19) ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงมีการค้นคว้าหาวิธีป้องกันและรักษาโรคนี้ ทั้งด้านการพัฒนาวัคซีนและการค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ในด้านที่เกี่ยวกับยานั้นมีกลุ่มนักวิจัยชาวจีนได้ตรวจหาฤทธิ์ยาและสารอื่นจำนวนกว่า 70,000 ชนิด โดยใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์บนคอมพิวเตอร์ (computer simulation) และการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในหลอดทดลอง เพื่อหาศักยภาพของยาหรือสารอื่นเหล่านั้นในการนำมาใช้รักษาโควิด-19 ทำให้พบยาที่น่าสนใจบางชนิด ซึ่งรวมถึง favipiravir, chloroquine phosphate และ remdesivir
Favipiravir (ชื่ออื่นคือ T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir) มีลักษณะโครงสร้างเป็น pyrazinecarboxamide derivative (ดูรูป) ค้นพบโดย Toyama Chemical Co., Ltd ในประเทศญี่ปุ่น ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบอาฟริกาตะวันตกช่วงปี พ.ศ. 2557 ถึง 2559 ยานี้ประสบปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยาได้เช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้ในประเทศเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุมัติทะเบียนยาแบบเร่งด่วน (fast-track approval) เพื่อใช้รักษาโควิด-19
Favipiravir มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัสได้หลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease virus), ไวรัสไข้เหลือง (yellow fever virus) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับไวรัสที่ก่อโรคในคนอีกหลายชนิด การที่ยานี้จะมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ต้องถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยเอนไซม์ภายในเซลล์ได้เป็น favipiravir ribosyl triphosphate ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase (หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication) นอกจากนี้สารออกฤทธิ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยานี้ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์
Favipiravir ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดย aldehyde oxidase เป็นส่วนใหญ่ และโดย xanthine oxidase เพียงเล็กน้อย เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้ง aldehyde oxidase ได้ด้วยจึงยับยั้งการเปลี่ยนสภาพของตัวยาเองได้ ด้วยเหตุนี้ค่าทางเภสัชจลนศาสตร์บางอย่างของยาจึงไม่ได้แปรผันเป็นเส้นตรงกับขนาดยาที่ได้รับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาผ่านรกและขับออกทางน้ำนมได้ ยามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องและอาจทำให้ลูกในท้องพิการได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาในขนาดสูง ขณะนี้ประเทศจีนมีโครงการที่จะทำการศึกษาทางคลินิกของยาดังกล่าว แบบ randomized, open-label, controlled trial จะมีทั้งหมด 6 การศึกษา หากผลการศึกษาเป็นไปอย่างที่คาดหวังจะขยายการศึกษาทางคลินิกในวงกว้างต่อไป สำหรับการศึกษาแรก (โดย Beijing Chaoyang Hospital ร่วมกับ Union Hospital และ Jinyintan Hospital) เริ่มลงทะเบียนรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าร่วมในการศึกษาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน เพื่อให้ favipiravir รับประทานวันละ 2 ครั้ง ขนาดยาที่ทำการศึกษาคือ 1,600 มิลลิกรัม, 1,800 มิลลิกรัม และ 2,400 มิลลิกรัม ให้ยานาน 10 วัน บางการศึกษาจะมีการเปรียบเทียบการใช้ favipiravir กับ lopinavir/ritonavir หรือ baloxavir marboxil ขณะนี้ favipiravir จึงเป็นยาตัวหนึ่งที่เป็นความหวังสำหรับใช้รักษาโควิด-19
อ้างอิงจาก:
(1) Avigan (favipiravir) tablet 200 mg. Report on the deliberation results. https://www.pmda.go.jp/files/000210319.pdf. Accessed: March 6, 2020; (2) Mak E. Sihuan starts clinical trial of Ebola drug favipiravir for COVID-19, March 4, 2020. www.bioworld.com/articles/433502-sihuan-starts-clinical-trial-of-ebola-drug-favipiravir-for-covid-19; (3) Shiraki K, Daikoku T. Favipiravir, an anti-influenza drug against life-threatening RNA virus infections. Pharmacol Ther 2020. doi:10.1016/j.pharmthera.2020.107512; (4) Lu H. Drug treatment options for the 2019-new coronavirus (2019-nCoV). Biosci Trends 2020. doi:10.5582/bst.2020.01020.