หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Etonogestrel ยาคุมกำเนิดแบบฝังใต้ผิวหนัง…การลดความเสี่ยงต่อ neurovascular injury และการเคลื่อนที่ของแท่งยา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มีนาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 5,582 ครั้ง
 
Etonogestrel เป็นยาสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรน (synthetic progestogen หรือ progestin) ยานี้เป็น active metabolite ของ desogestrel ใช้เป็นยาคุมกำเนิดมานานกว่า 20 ปี มีทั้งรูปแบบวงแหวนสอดช่องคลอด (vaginal ring) ที่ผสมร่วมกับ ethinyl estradiol สามารถปลดปล่อยตัวยา etonogestrel/ethinyl estradiol ในปริมาณ 0.12 มิลลิกรัม/0.015 มิลลิกรัม ต่อวัน และรูปแบบยาฝังใต้ผิวหนัง (subdermal implant) ที่มีตัวยา 68 มิลลิกรัม ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี ยานี้ออกฤทธิ์คุมกำเนิดโดยยับยั้งการตกไข่ อาการไม่พึงประสงค์ของยาในรูปแบบฝังใต้ผิวหนังมีคล้ายคลึงกับยาสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรนชนิดอื่น ๆ ที่ให้โดยการรับประทาน นอกจากนี้ยารูปแบบฝังใต้ผิวหนังยังมีรายงานว่าทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท (neurovascular injury) และมีการเคลื่อนที่ของแท่งยา ซึ่งอาจเข้าไปยัง pulmonary artery (แต่พบน้อย) บางรายเกิดก้อนเลือดและรอยฟกช้ำอย่างมากตรงตำแหน่งที่ฝังยา และบางรายมีอาการหายใจลำบาก

แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับผลไม่พึงประสงค์ของ etonogestrel แบบฝังใต้ผิวหนังที่ทำให้เกิด neurovascular injury และการเคลื่อนที่ของแท่งยาจะมีการกล่าวถึงมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่หน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) ในสหราชอาณาจักรแจ้งว่ายังคงได้รับรายงานถึงผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าวจากการใช้ยา Nexplanon ซึ่งเป็น etonogestrel รูปแบบยาฝังใต้ผิวหนัง ข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 มีรายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของแท่งยาทั้งสิ้น 126 รายงาน ในจำนวนนี้มี 18 รายงานระบุถึงการเคลื่อนที่ไปที่ปอด ส่วนข้อมูลที่มาจากผู้ผลิตซึ่งรวบรวมจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกภายหลังการวางจำหน่าย นับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1998 จนถึงวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2019 มีจำนวนทั้งสิ้น 107 ราย ที่พบว่ามีการเคลื่อนที่ของแท่งยาไปยัง pulmonary artery และปอด การเกิดผลไม่พึงประสงค์เหล่านี้แม้จะไม่พบปัจจัยเสี่ยงที่เจาะจง แต่คาดว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ได้แก่ การฝังแท่งยาลึกเกินไป ตำแหน่งที่ฝังแท่งยาไม่เหมาะสม หรือแขนผอมบางเกินไป จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตศึกษากายวิภาคศาสตร์ของแขนเพื่อหาตำแหน่งที่มีโครงสร้างของหลอดเลือดและเส้นประสาทน้อยที่สุด และมีข้อแนะนำว่าให้ฝังยาใต้ผิวหนังพอดี โดยฝังบริเวณท้องแขนช่วงบนของข้างที่ไม่ถนัด ระยะประมาณ 8-10 เซนติเมตร เหนือปุ่มกระดูกบนกระดูกต้นแขน (medial epicondyle of the humerus) และ 3-5 เซนติเมตรหลังร่อง (sulcus) ระหว่างกล้ามเนื้อ biceps และ triceps ซึ่งจะเป็นบริเวณ triceps muscle บริเวณนี้มีหลอดเลือดและเส้นประสาทเบาบางกว่าบริเวณอื่น เพื่อลดการเกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท ตลอดลดความเสี่ยงต่อการเคลื่อนที่ของแท่งยาไปตามแนวหลอดเลือดในกรณีที่ฝังแท่งยาลึกเกินไปโดยไม่ตั้งใจ คำแนะนำดังกล่าวได้ใส่ลงในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ หน่วยงาน MHRA ในสหราชอาณาจักรยังมีข้อแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการฝังยาว่าควรทำโดยผู้ที่ผ่านการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ และให้บุคลากรทางการแพทย์แนะนำผู้หญิงที่ได้รับการฝังยาคุมกำเนิดให้รู้ถึงการตรวจสอบตำแหน่งที่ฝังยาด้วยตนเอง และให้หมั่นตรวจสอบเป็นระยะ ๆ เพื่อมั่นใจว่าแท่งยายังอยู่ในตำแหน่งเดิม

อ้างอิงจาก:

(1) Nexplanon (etonogestrel) contraceptive implants: new insertion site to reduce rare risk of neurovascular injury and implant migration. Drug Safety Update volume 13, issue 7: February 2020: 4; (2) Zhang S, Batur P, Martin C 3rd, Rochon PJ. Contraceptive implant migration and removal by interventional radiology. Semin Intervent Radiol 2018;35:23-8; (3) Petro GA, Spence T, Du Plessis JP, Gertz AM, Morroni C. Migration of etonogestrel contraceptive implants: implications for difficult removals services need in southern Africa. S Afr Med J 2019;109:559-61.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้