หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Cenobamate...ยาใหม่สำหรับโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2563 -- อ่านแล้ว 3,995 ครั้ง
 
โรคลมชัก (epilepsy) รักษาให้หายขาดได้ยาก แม้ว่าในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมามียาต้านโรคลมชัก (antiepilepsy drugs) ชนิดใหม่ ๆ ออกวางจำหน่ายหลายชนิดแล้วก็ตาม มีผู้ป่วยโรคลมชักราวครึ่งหนึ่งที่ควบคุมอาการได้ด้วยยารักษาโรคลมชักชนิดแรกที่ใช้ นั่นหมายความว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องได้รับยาชนิดอื่นเพิ่ม โรคลมชักที่ควบคุมอาการไม่ได้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นยารักษาโรคลมชักอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่นานมานี้มียาชนิดใหม่ออกวางจำหน่าย คือ cenobamate คาดหวังว่ายานี้จะช่วยรักษาโรคลมชักที่ดื้อต่อยาอื่น

Cenobamate (YKP3089) เป็น tetrazole alkyl carbamate derivative กลไกการออกฤทธิ์ในการลด neuronal excitability ยังไม่ชัดเจน ยานี้ออกฤทธิ์กว้าง ซึ่งนอกจากการยับยั้ง excitatory sodium-channel currents แล้ว เชื่อว่าการลด neuronal excitability ยังออกฤทธิ์ผ่าน γ-aminobutyric acid (GABA-A) ion channel (ยาเพิ่มการหลั่ง presynaptic GABA) ยาดังกล่าวได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษา focal (partial)-onset seizures ที่ควบคุมอาการไม่ได้ในผู้ใหญ่ โดยใช้เดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาเม็ด ความแรง 12.5, 25, 50, 100, 150 และ 200 มิลลิกรัม เริ่มแรกรับประทาน 12.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ค่อย ๆ ปรับขนาดยาจนถึงขนาดที่แนะนำคือ 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง (ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 11 เป็นต้นไป) หากจำเป็นอาจเพิ่มขนาดยาได้ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการทางคลินิกและผลไม่พึงประสงค์ของยา โดยเพิ่มขึ้น 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งในทุก 2 สัปดาห์ จนถึงขนาดสูงสุดคือ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

ยานี้ได้รับข้อบ่งใช้ดังกล่าวข้างต้นเนื่องจากมีผลการศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษาที่เป็น multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trials ศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ 655 คนที่มี partial-onset seizures ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี secondary generalization ร่วมด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้เป็นโรคลมชักมาเฉลี่ย 24 ปี และควบคุมอาการได้ไม่ดีด้วยยาต้านชัก 1-3 ชนิด ในช่วง 8 สัปดาห์ก่อนเริ่มให้ยา (baseline) ความถี่ของการเกิดอาการชักในผู้ป่วยเหล่านี้มีค่ากลางเท่ากับ 8.5 ครั้งต่อ 28 วัน ผู้ป่วยกว่า 80% ได้รับยาต้านโรคลมชักตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ใน Study 1 ศึกษาการใช้ยาขนาด 200 มิลลิกรัม/วัน เปรียบเทียบกับยาหลอก ศึกษานาน 12 สัปดาห์ ส่วนใน Study 2 ศึกษาการใช้ยาขนาด 100, 200 และ 400 มิลลิกรัม/วัน เปรียบเทียบกับยาหลอก ศึกษานาน 18 สัปดาห์ การให้ยาจะเริ่มด้วยขนาด 50 มิลลิกรัม/วัน (สูงกว่าที่แนะนำในปัจจุบัน) จากนั้นค่อย ๆ ปรับเพิ่มขนาดยาจนถึงขนาดที่ระบุข้างต้น ทั้งสองการศึกษาใช้เวลาในการปรับขนาดยานาน 6 สัปดาห์ ซึ่งการปรับขนาดยาใน Study 2 จะเร็วกว่าที่แนะนำในปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่ายาขนาด 100, 200 และ 400 มิลลิกรัม ช่วยลดอัตราการเกิดอาการชักต่อ 28 วันได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับทุกขนาดยาที่ใช้ โดยให้ผลแปรผันตามขนาดยา อาการไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจพบ เช่น ง่วงนอน เวียนศีรษะ อ่อนล้า การเห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะ

อ้างอิงจาก:

(1) Arnold S. Cenobamate: new hope for treatment-resistant epilepsy. Lancet Neurol 2020;19:23-4; (2) National Institute for Health Research (NIHR). Cenobamate for partial focal epilepsy – adjunctivetherapy. NIHR Innovation Observatory Evidence Briefing: June 2018. http://www.io.nihr.ac.uk/wp-content/uploads/2018/07/11789-Cenobamate-for-partial-focal-epilepsy-V1.0-JUN2018-NON-CONF.pdf; (3) Xcopri (cenobamate) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4523384, revised: 11/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/212839s000lbl.pdf
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้