หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Ondansetron เพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยต่อการเกิดความพิการของริมฝีปากและเพดานปาก (oral clefts) ในทารกที่มารดาใช้ยาช่วงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2563 -- อ่านแล้ว 7,442 ครั้ง
 
Ondansetron เป็น 5-HT3 receptor antagonist ใช้ควบคุมอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากยาต้านมะเร็ง (cytotoxic chemotherapy) และรังสีรักษา (radiotherapy) ตลอดจนใช้ป้องกัน/รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนภายหลังการผ่าตัด (post-operative nausea and vomiting) นอกจากนี้ยังมีการใช้นอกเหนือจากข้อบ่งใช้ข้างต้น โดยใช้รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนรุนแรงในหญิงมีครรภ์ (hyperemesis gravidarum) เมื่อยาอันดับแรกใช้ไม่ได้ผลหรือให้ผลไม่เพียงพอ ซึ่งอาการคลื่นไส้และอาเจียนรุนแรงดังกล่าวอาจทำมารดาและทารกขาดสารอาหารจนเป็นอันตรายได้

แม้ว่าผลการศึกษา ondansetron ในสัตว์ทดลองจะไม่พบความเป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ (reproductive toxicity) ซึ่งครอบคลุมถึงการไม่พบความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อลูกในท้อง อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆ นี้ในยุโรปรวมถึงสหราชอาณาจักรได้มีการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยของ ondansetron ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้คาดว่าทารกในครรภ์ที่มารดาใช้ ondansetron ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกซึ่งเป็นช่วงที่มีการสร้างอวัยวะของทารก จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดริมฝีปากแหว่ง (cleft lip) และ/หรือ เพดานปากโหว่ (cleft palate) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดังเช่นข้อมูลจาก retrospective cohort study ที่ทำในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 2000 ถึง 2013 (ตีพิมพ์เผยแพร่ปี ค.ศ. 2018) ซึ่งศึกษาในหญิงมีครรภ์ 1,502,895 คน มีจำนวนการตั้งครรภ์รวม 1,816,414 ครั้ง ในจำนวนนี้มี 88,467 (4.9%) ครั้งของการตั้งครรภ์ ที่มารดาได้รับ ondansetron ช่วงไตรมาสแรก ผลการศึกษาพบว่าทารกที่สัมผัสกับ ondansetron ช่วงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก มีความสัมพันธ์กับการเกิดความพิการของริมฝีปากและเพดานปากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตรา 3 ต่อ 10,000 โดยพบ 14 คนต่อทารก 10,000 คน เทียบกับการพบเพียง 11 คนต่อทารก 10,000 คนที่ไม่ได้สัมผัสยา ซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่า adjusted relative risk เท่ากับ 1.24, 95% CI เท่ากับ 1.03-1.48) นอกเหนือจากนี้ยังมีการศึกษาอื่นอีก ซึ่งแม้ว่าบางการศึกษาพบเพียงแนวโน้ม (ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) ในการเพิ่มขึ้นของการเกิดริมฝีปากแหว่ง และ/หรือ เพดานปากโหว่ ในทารกที่มารดาใช้ยาในช่วงตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับทารกที่มารดาไม่ได้ใช้ยาต้านอาเจียนชนิดใดเลย การศึกษาเหล่านี้แม้มีข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับแหล่งข้อมูล แต่ผลการศึกษาที่พบพอที่จะเชื่อได้ว่าการใช้ ondansetron ในช่วงไตรมาสแรกมีความสัมพันธ์เล็กน้อยกับการเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว

ในยุโรปรวมถึงสหราชอาณาจักรได้ดำเนินการจัดการเกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งในสหราชอาณาจักรโดยหน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) ได้มีการติดตามความปลอดภัยของการใช้ ondansetron พร้อมทั้งมีข้อแนะนำสำหรับแพทย์ที่จะสั่งใช้ยานี้ในการรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนรุนแรงในหญิงมีครรภ์ โดยแนะนำให้พิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ยา และควรใช้เมื่อยาเป็นอันดับแรกใช้ไม่ได้ผลหรือให้ผลไม่เพียงพอ ทั้งนี้ควรให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยถึงประโยชน์ของการใช้ยาเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับตัวมารดาและทารกในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย (รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย) รายงานอาการไม่พึงประสงค์ของ ondansetron มายังหน่วยงานข้างต้น

อ้างอิงจาก:

(1) Ondansetron: small increased risk of oral clefts following use in the first 12 weeks of pregnancy. Drug Safety Update volume 13, issue 6: January 2020: 2; (2) Huybrechts KF, Hernández-Díaz S, Straub L, Gray KJ, Zhu Y, Patorno E, et al. Association of maternal first-trimester ondansetron use with cardiac malformations and oral clefts in offspring. JAMA 2018;320:2429-37.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้