ยาต้านฮีสตามีนที่ตัวรับชนิด H1 (histamine H1-antagonists หรือ H1 antihistamines) มีผลไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับอาการง่วง โดยเฉพาะยารุ่นแรก (sedating antihistamines หรือ first-generation antihistamines) เช่น chlorpheniramine, diphenhydramine, hydroxyzine ส่วนยารุ่นใหม่กว่าหรือยารุ่นที่ 2 (newer generation antihistamines หรือ second-generation antihistamines) จัดเป็นยาที่ไม่ทำให้ง่วง (non-sedating antihistamines) เช่น cetirizine, loratadine, desloratadine, fexofenadine, levocetirizine (ยา 3 ชนิดหลังเป็นพวก active enantiomer หรือ active metabolite บางคนจัดเป็นยารุ่นที่ 3 หรือ third-generation antihistamines) ยาต้านฮีสตามีนเหล่านี้มีประโยชน์มากในการรักษาโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่อาจมีหรือไม่มีการอักเสบร่วมด้วย เช่น allergic rhinitis (allergic rhinoconjunctivitis), urticaria, atopic dermatitis ยาในกลุ่ม H1 antihistamines มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในการรักษาโรคที่กล่าวข้างต้น แต่มีผลสงบประสาท (sedative effects) ซึ่งทำให้ง่วงได้แตกต่างกัน การที่ยาทำให้ง่วงอาจรบกวนประสิทฺธิภาพในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ รวมถึงการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลหรือการขับรถ บางหน่วยงานแนะนำให้เลือกใช้ non-sedating antihistamines เป็นอันดับแรกในการรักษา allergic rhinitis และ urticaria
การที่ยาแสดงฤทธิ์สงบประสาทและทำให้เกิดอาการง่วงนั้น ยาจะต้องผ่านเข้าสมองเพื่อจับกับตัวรับ H1 ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาถึง brain H1 receptor occupancy (H1RO) โดยใช้เทคนิคทาง positron emission tomography (PET) เพื่อนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดถึงความเสี่ยงของยาที่จะทำให้เกิดอาการง่วง และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับ H1RO ของ H1 antihistamines ชนิดต่าง ๆ (ดูรูป) ค่า H1RO นี้นำมาใช้ในการจำแนกยาในกลุ่ม H1 antihistamines ออกเป็น non-sedating antihistamines (<20%), less-sedating antihistamines (20-50%) และ sedating antihistamines (≥50%) ซึ่งจะเห็นว่าในบรรดา non-sedating antihistamines นั้นมีเพียง fexofenadine และ bilastine ที่เป็น “non-brain-penetrating antihistamines” ยาทั้งสองนี้มีคุณสมบัติทางเคมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ bilastine มีความชอบในการจับกับ H1 receptor มากกว่าและออกฤทธิ์ได้นานกว่า fexofenadine นอกจากนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมที่เปรียบเทียบ H1RO ระหว่าง desloratadine (5 มิลลิกรัม) กับ loratadine (10 มิลลิกรัม) พบค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.47% เทียบกับ 13.8% ซึ่งค่า H1RO ของ loratadine ที่ได้นี้ใกล้เคียงกับค่าที่รายงานในการศึกษาที่กล่าวข้างต้น
อ้างอิงจาก:
(1) Fein MN, Fischer DA, O’Keefe AW, Sussman GL. CSACI position statement: newer generation H1-antihistamines are safer than first-generation H1-antihistamines and should be the first-line antihistamines for the treatment of allergic rhinitis and urticaria. Allergy Asthma Clin Immunol 2019. doi: 10.1186/s13223-019-0375-9; (2) Kawauchi H, Yanai K, Wang DY, Itahashi K, Okubo K. Antihistamines for allergic rhinitis treatment from the viewpoint of nonsedative properties. Int J Mol Sci 2019. doi: 10.3390/ijms20010213; (3) Nakamura T, Hiraoka K, Harada R, Matsuzawa T, Ishikawa Y, Funaki Y, et al. Brain histamine H1 receptor occupancy after oral administration of desloratadine and loratadine. Pharmacol Res Perspect 2019. doi: 10.1002/prp2.499