หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาสูตรผสม omeprazole/amoxicillin/rifabutin (ตัวยา 3 ชนิด) สำหรับรักษาการติดเชื้อ H. pylori

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤศจิกายน ปี 2562 -- อ่านแล้ว 12,620 ครั้ง
 
Helicobacter pylori เป็นแบคทีเรียที่พบได้ในกระเพาะอาหาร อาจได้รับเชื้อนี้ตั้งแต่วัยเด็ก ถือเป็นจุลชีพประจำถิ่น (normal flora) ชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อนี้ไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติบางอย่างที่กระเพาะอาหาร เช่น peptic ulcer diseases, nonulcer dyspepsia, โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ที่กลับมาเป็นซ้ำ ในกรณีที่มีการติดเชื้อนี้ โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้การรักษาแบบ triple regimen ที่มียา 3 ชนิด ประกอบด้วยยา 1 ชนิดที่อยู่ในกลุ่ม proton pump inhibitors ร่วมกับยาต้านจุลชีพ 2 ชนิดที่เลือกจาก amoxicillin, clarithromycin และ metronidazole (หรือ nitroimidazoles ชนิดอื่น) ปัจจุบันพบอุบัติการณ์ของเชื้อยามากขึ้น ไม่ว่าจะดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่กล่าวมาหรือดื้อต่อยาอื่นรวมถึง fluoroquinolones และ tetracycline (ร่วมกับ bismuth) ซึ่งปัญหาการดื้อยานี้เกิดแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ในระยะหลังมีการศึกษาที่พบว่าสูตรการรักษาที่ให้ rifabutin ร่วมด้วยนั้นให้ผลดี เช่น การให้ rifabutin ร่วมกับ amoxicillin และยาอีก 1 ชนิดในกลุ่ม proton pump inhibitors ทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้มียาสูตรผสมที่มียาเหล่านี้ผสมรวมกัน (fixed-dose combination) ออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ โดยผลิตในรูป delayed-release capsule ที่มี omeprazole magnesium 10.3 มิลลิกรัม (เท่ากับ omeprazole 10 มิลลิกรัม), amoxicillin 250 มิลลิกรัม และ rifabutin 12.5 มิลลิกรัม มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อ H. pylori ในผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล ทุก 8 ชั่วโมง พร้อมอาหาร เป็นเวลา 14 วัน ควรใช้ยานี้เฉพาะกรณีที่คาดว่ามีการติดเชื้อ H. pylori เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการเกิดแบคทีเรียดื้อยา

ในยาสูตรผสมดังกล่าวนั้น omeprazole เป็น proton pump inhibitor ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ H+/K+ ATPase จึงยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร, amoxicillin เป็นยาต้านแบคทีเรียในกลุ่มยาปฏิชีวนะ penicillins ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียตรงขั้นตอน transpeptidation ทำให้แบคทีเรียตาย ส่วน rifabutin เป็นยาต้านแบคทีเรียในกลุ่มยาปฏิชีวนะ rifamycins ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ RNA ของแบคทีเรีย โดยยับยั้งเอนไซม์ DNA-dependent RNA polymerase ทำให้แบคทีเรียตายเช่นกัน การที่ยาสูตรผสมได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกามาสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษา เป็นการศึกษาในระยะที่ 3 แบบ randomized, double-blind, controlled trial ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีการติดเชื้อ H. pylori ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการเจ็บแสบบริเวณลิ้นปี่หรือยอดอกและอึดอัดท้อง โดยการศึกษาแรกผู้ป่วยไม่เคยใช้ยามาก่อน แบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มที่ได้รับยาสูตรผสม (228 คน) และกลุ่มควบคุม (227 คน) ที่ได้รับ amoxicillin และ omeprazole ในขนาดโดยรวมต่อวันเท่ากับ 3,000 มิลลิกรัม และ 120 มิลลิกรัม ตามลำดับ ให้ยานาน 14 วัน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาสูตรผสมให้ผลการรักษาดีกว่ากลุ่มควบคุม (83.8% เทียบกับ 57.7%) ส่วนการศึกษาที่ 2 เปรียบเทียบการให้ยาสูตรผสม (77 คน) กับยาหลอก (41 คน) ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาสูตรผสมมีอัตราการกำจัดเชื้อ 76.6% เทียบกับ 2.4% ในกลุ่มยาหลอก ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ของยาสูตรผสมที่อาจพบ เช่น ท้องเดิน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผื่นขึ้น

อ้างอิงจาก:

(1) Crowe SE. Helicobacter pylori infection. N Engl J Med 2019;380:1158-65; (2) Ribaldone DG, Fagoonee S, Astegiano M, Durazzo M, Morgando A, Sprujevnik T, et al. Rifabutin-based rescue therapy for Helicobacter pylori eradication: a long-term prospective study in a large cohort of difficult-to-treat patients. J Clin Med 2019. doi: 10.3390/jcm8020199; (3) Randel A. H. pylori infection: ACG updates treatment recommendations. Am Fam Physician 2018;97:135-7; (4) Talicia (omeprazole magnesium, amoxicillin and rifabutin) delayed-release capsules. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4515170, revised: 11/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/213004lbl.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
omeprazole/amoxicillin/rifabutin H. pylori Helicobacter pylori peptic ulcer diseases nonulcer dyspepsia โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ triple regimen proton pump inhibitors amoxicillin clarithromycin metronidazole nitr
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้