หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Hormone replacement therapy...ยังคงเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมแม้หยุดใช้ยานานมากแล้ว

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2562 -- อ่านแล้ว 2,969 ครั้ง
 
ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม อายุที่หมดระดู ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สภาพการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อม อาหาร ยา ในกรณีที่เกี่ยวกับยานั้นเป็นที่ทราบกันว่าการได้รับยาฮอร์โมนทดแทน (hormone replacement therapy หรือ HRT) นั้นมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผลการศึกษาแบบ meta-analysis ในผู้หญิงวัยหมดระดูที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม 108,647 คน ให้การยืนยันถึงความสัมพันธ์ของยาฮอร์โมนทดแทนกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม และยังพบอีกว่าความเสี่ยงยังคงมีอยู่แม้หยุดใช้ยานานกว่า 10 ปี ผลการศึกษาถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้

 ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงที่ใช้ยาฮอร์โมนทดแทนชนิดที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (systemic HRT) เพื่อทุเลาอาการจากการหมดระดู (vasomotor symptoms และอาการอื่น) ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือชนิดที่ใช้ผ่านทางผิวหนังในรูปแบบใด และไม่ว่าจะเป็นเอสโตรเจนเดี่ยวหรือร่วมกับโพรเจสโตเจน (ซึ่งใช้ในกรณีที่ยังมีมดลูก) อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นเอสโตรเจนหรือโพรเจสโตเจนชนิดใด ล้วนมีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งเต้านมอย่างมีนัยสำคัญ

 ยาฮอร์โมนทดแทนชนิดสูตรผสม (เอสโตรเจนร่วมกับโพรเจสโตเจน) มีความเสี่ยงมากกว่าชนิดเอสโตรเจนเดี่ยว

 การใช้เอสโตรเจนขนาดต่ำทางช่องคลอดเพื่อรักษาอาการเฉพาะที่ ไม่ว่าอยู่ในรูปยาครีม ยาเม็ด หรือวงแหวน ความเสี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้น

 การใช้ยาฮอร์โมนทดแทนชนิดที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายนั้น ความเสี่ยงยังอยู่แม้หยุดใช้ยานานกว่า 10 ปี ดังนั้นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมจากการใช้ยาฮอร์โมนทดแทน โดยรวมทั้งหมดจึงมีมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในอดีต

 ความเสี่ยงไม่เพิ่มหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อยหากใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลาน้อยกว่า 1 ปี ไม่ว่ากำลังใช้อยู่หรือเคยใช้ในอดีต แต่ถ้าใช้ยานานกว่านี้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากหากยิ่งใช้ยาเป็นเวลานานมาก

 ความเสี่ยงลดลงหากหยุดใช้ยาเมื่อเทียบกับการที่ยังคงใช้อยู่ แต่ความเสี่ยงไม่ได้หมดไปแม้จะหยุดใช้นานถึง 10 ปี โดยยังคงพบว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่เคยใช้เลย

 ไม่ว่าจะเริ่มต้นใช้ยาฮอร์โมนทดแทนที่ช่วงอายุ 40-50 ปี หรือ 50-60 ปี หากมีระยะเวลาที่ใช้ยานานพอ ๆ กันแล้ว พบโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 69 ปีในจำนวนรวมที่ใกล้เคียงกัน

ข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น ทำให้หน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) ในสหราชอาณาจักรมีข้อแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้

o ควรให้ข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมก่อนที่จะเริ่มสั่งใช้ยาฮอร์โทนทดแทนให้กับผู้ป่วยรายใหม่ หรือก่อนที่จะสั่งใช้ยาในครั้งต่อไปสำหรับผู้ที่ใช้ยาอยู่แล้ว

o ควรสั่งใช้ยาฮอร์โทนทดแทนเฉพาะรายที่ต้องการบรรเทาอาการจากการหมดระดูที่รบกวนคุณภาพชีวิตเท่านั้น และทบทวนการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมั่นใจว่าการสั่งใช้ยานั้นเหมาะสม โดยให้ใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดและในขนาดต่ำสุด

o ย้ำเตือนให้ผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนทดแทนทั้งผู้ที่ใช้ปัจจุบันและอดีต ระมัดระวังถึงอาการแสดงของโรคมะเร็งเต้านม พร้อมทั้งสนับสนุนให้เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเมื่อถึงเวลา

อ้างอิงจาก:

(1) Hormone replacement therapy (HRT): further information on the known increased risk of breast cancer with HRT and its persistence after stopping. Drug Safety Update volume 13, issue 2: September 2019: 1; (2) Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Type and timing of menopausal hormone therapy and breast cancer risk: individual participant meta-analysis of the worldwide epidemiological evidence. Lancet 2019;394:1159-68; (3) Harbeck N, Penault-Llorca F, Cortes J, Gnant M, Houssami N, Poortmans P, et al. Breast cancer. Nat Rev Dis Primers 2019. doi: 10.1038/s41572-019-0111-2.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคมะเร็งเต้านม ยาฮอร์โมนทดแทน hormone replacement therapy HRT systemic HRT vasomotor symptoms เอสโตรเจน โพรเจสโตเจน
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้