แอสไพรินขนาดต่ำเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด…ไม่ใช่ยาสำหรับทุกคนอีกต่อไป
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ตุลาคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 7,506 ครั้ง
แอสไพรินเป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs) ยานี้ในขนาดต่ำ เช่น 75-100 มิลลิกรัม นำมาใช้เป็นยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ชนิด COX-1 ทำให้ยับยั้งการสร้าง thromboxane A2 ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่ม แอสไพรินในขนาดต่ำจึงมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด หลายปีที่ผ่านมาได้มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายถึงประโยชน์ของการรับประทานแอสไพรินขนาดต่ำเพื่อป้องกัน heart attack และ stroke ถึงกับมีคำแนะนำหรือคำกล่าวที่ว่า “ทุกคนควรได้รับแอสไพรินขนาดต่ำทุกวัน ไม่ใช่ควรได้รับเพียงบางคน” หรือ “aspirin a day may push death away” หรือ “aspirin a day keeps the cardiologist away” ทำให้ประชากรทั่วโลกหลายล้านคนมีการใช้แอสไพรินกันเองโดยแพทย์ไม่ได้สั่งยาให้
ข้อมูลจากการศึกษาที่เกี่ยวกับการรับประทานแอสไพรินขนาดต่ำเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่แล้วรวมถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้จะยืนยันผลที่ได้คล้ายกับในอดีตที่ว่ายามีประสิทธิภาพในการลดการเกิด heart attack และ stroke แต่ยาดังกล่าวทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหลภายในร่างกาย เช่น ที่ทางเดินอาหาร หรือในสมอง (อาจเกิด hemorrhagic stroke แม้ว่าพบได้น้อย) ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลางที่จะการเกิด heart attack หรือ stroke ได้รับประโยชน์น้อยหรือไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยา (เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น) โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี นอกจากนี้ในคนทั่วไปนั้นมีวิธีการอื่นหลายอย่างในการป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดกับหัวใจ เช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การควบคุมความดันโลหิตและระดับโคเลสเตอรอลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การไม่สูบบุหรี่ จากผลการศึกษาข้างต้นทำให้บางหน่วยงาน เช่น American College of Cardiology, American Heart Association, European Society of Cardiology ได้ทำการปรับแนวทางในการให้คำแนะนำเรื่องการรับประทานแอสไพรินขนาดต่ำเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดเป็นว่า ̵ ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานแอสไพรินขนาดต่ำเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดในผู้ที่อายุเกิน 70 ปีที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่อายุน้อยกว่านี้แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดไหล ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์จากการใช้ยาคือผู้ที่มีอายุ 40-70 ปีที่มีความเสี่ยงสูงต่อ heart attack หรือ stroke (ได้แก่ ผู้ที่เคยเกิด heart attack หรือ stroke, ผู้ที่ทำ bypass surgery, ผู้ที่ใส่ stent, ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดโคโรนารี) ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ยา อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ หากรับประทานแอสไพรินขนาดต่ำอยู่แล้วสามารถรับประทานต่อไปได้
โดยสรุปไม่ใช่ทุกคนควรได้รับแอสไพรินขนาดต่ำ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ยายังคงให้ประโยชน์ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40-70 ปีซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด heart attack หรือ stroke (มีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวข้างต้น) และเป็นผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดไหลภายในร่างกาย (เช่น ไม่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไม่ได้ใช้ยาอื่นที่รบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด ไม่ได้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) ทั้งนี้แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้แนะนำให้ใช้ยา
อ้างอิงจาก:
(1) Arnett DK, Blumenthal RS, Albert MA, Buroker AB, Goldberger ZD, Hahn EJ, et al. 2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. Circulation 2019;140:e596-e646; (2) Chiang KF, Shah SJ, Stafford RS. A practical approach to low-dose aspirin for primary prevention. JAMA 2019. doi: 10.1001/jama.2019.8388; (3) European Society of Cardiology. Aspirin should not be recommended for healthy people over 70. Press release, 31 Aug 2019.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
แอสไพรินขนาดต่ำ
ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด
ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
non-steroidal antiinflammatory drugs
NSAIDs
ยาต้านเกล็ดเลือด
antiplatelet
cyclooxygenase
COX
COX-1
thromboxane A2