หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Cannabis และ cannabinoids ชนิดที่ใช้เป็นยาในบางประเทศ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มิถุนายน ปี 2562 -- อ่านแล้ว 27,990 ครั้ง
 

กัญชา (cannabis) ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มาจากพืชกัญชา (cannabis plant หรือ Cannabis sativa L. plant) ทั้งชิ้นส่วนของพืชและสารธรรมชาติในพืชกัญชา ในบ้านเรากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522) แต่อนุญาตให้ปลูกพืชกัญชาสำหรับใช้เพื่อทดลองประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และในกรณีที่จำเป็นสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ คาดว่าจะมีน้ำมันกัญชาออกมาใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในเร็วๆ นี้ ที่ผ่านมาในบางประเทศมีผลิตภัณฑ์กัญชา (cannabis preparations) ที่ใช้เป็นยาแบบไม่ได้ผ่านการอนุมัติทะเบียนตำรับ (ดูรูป) มีทั้งชนิด raw cannabis ซึ่งใช้ยอดช่อดอก เรซิน น้ำมัน หรือสารสกัด เป็นต้น จาก raw cannabis นี้เภสัชกรอาจนำมาปรุงเป็นตำรับตามใบสั่งยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (magistral preparations) นอกจากนี้อาจนำ raw cannabis มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานขึ้นและผลิตเป็นจำนวนมากโดยโรงงานอุตสาหกรรม (standardised cannabis preparations) โดยอาจทำเป็นกัญชาบรรจุแคปซูล น้ำมันกัญชาสกัด อย่างไรก็ตามชนิดและปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความหลากหลายมาก ขึ้นกับสายพันธุ์พืช วิธีการปลูก สภาพแวดล้อม ตลอดจนการเก็บรักษา จึงยากที่จะทดสอบด้านประสิทธิภาพในการรักษาความเจ็บป่วย

Cannabinoids หมายถึงสารต่างๆ ที่จับได้กับตัวรับจำเพาะในร่างกาย (cannabinoid receptors) อาจเป็นสารที่มาจากพืชกัญชา (plant-derived cannabinoids หรือ phytocannabinoids) หรือสารสังเคราะห์ (synthetic cannabinoids) สารเหล่านี้มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในร่างกายมี cannabinoids ด้วยเช่นกัน (endocannabinoids) ในพืชกัญชามี cannabinoids กว่า 140 ชนิด ซึ่ง tetrahydrocannabinol (THC) และ cannabidiol (CBD) เป็นชนิดที่มีการศึกษากันมาก ส่วนชนิดที่เป็นสารสังเคราะห์อาจมีโครงสร้างเหมือนหรือแตกต่างจาก cannabinoids ที่พบในพืชกัญชา ในการจัดประเภทตามกฎหมายนั้น สารสังเคราะห์แม้เป็นชนิดเดียวกันกับที่พบตามธรรมชาติในพืชกัญชาแต่ไม่ได้จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่น THC ชนิดสังเคราะห์ (กรณีไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางยา) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559) ปัจจุบันมี cannabinoids ที่ได้รับอนุมัติในบางประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้วหลายรายการ (ดูรูป) ตัวอย่างได้แก่

— dronabinol เป็น THC ชนิดสังเคราะห์ ผลิตในรูปยาแคปซูลความแรง 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม และยาน้ำใสความแรง 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สำหรับรับประทาน มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษา anorexia ในผู้ป่วยโรคเอดส์ และรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง ใช้ยานี้เมื่อใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

— nabilone เป็นสารสังเคราะห์ที่โครงสร้างคล้าย THC ผลิตในรูปยาแคปซูลความแรง 1 มิลลิกรัม สำหรับรับประทาน มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง ใช้ยานี้เมื่อใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

— nabiximols มีส่วนประกอบของ THC และ CBD ที่สกัดจากพืชกัญชา สารทั้งสองนี้มีปริมาณใกล้เคียงกัน (ใน 100 ไมโครลิตรมี THC 2.7 มิลลิกรัม และ CBD 2.5 มิลลิกรัม) ผลิตในรูปยาสเปรย์สำหรับใช้กับเยื่อเมือกในปาก (oromucosal spray) ใช้สเปรย์ด้านในแก้มหรือใต้ลิ้น มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษากล้ามเนื้อเกร็งในผู้ป่วย multiple sclerosis

— cannabidiol (CBD) เป็นชนิดธรรมชาติที่สกัดจากพืชกัญชา ผลิตในรูปยาน้ำใสความแรง 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สำหรับรับประทาน มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการชักใน Lennox-Gastaut syndrome หรือ Dravet syndrome ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

อ้างอิงจาก:

(1) European Monitoring Centre for Drugs and Drug Addiction. Medical use of cannabis and cannabinoids: questions and answers for policymaking, Publications Office of the European Union, Luxembourg, 2018. http://www.emcdda.europa.eu/system/files/publications/10171/20185584_TD0618186ENN_PDF.pdf; (2) Freeman TP, Hindocha C, Green SF, Bloomfield MAP. Medicinal use of cannabis based products and cannabinoids. BMJ 2019;365:l1141. doi: 10.1136/bmj.l1141; (3) RxList - The Internet Drug Index for prescription drug information. https://www.rxlist.com

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
cannabis กัญชา cannabis plant Cannabis sativa L. ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 น้ำมันกัญชา cannabis preparations raw cannabis magistral preparation standardised cannabis preparations cannabinoids cannabinoid
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้