หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Esketamine nasal spray...ยารักษาโรคซึมเศร้าชนิดพ่นจมูก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กรกฎาคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 6,609 ครั้ง
 
Esketamine (S-ketamine) เป็น S-enantiomer ของ ketamine (racemic form) ออกฤทธิ์เป็น non-selective, non-competitive N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonist มีฤทธิ์คล้าย ketamine ซึ่งการให้ ketamine เข้าหลอดเลือดดำออกฤทธิ์ต้านซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อไม่นานมานี้มี esketamine ในรูปยาพ่นจมูก (nasal spray) ออกวางจำหน่ายเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) ในผู้ใหญ่ที่อาการโรคควบคุมได้ไม่เพียงพอด้วยยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทาน โดยทำเป็นยาน้ำใสบรรจุในขวดแก้วขนาดเล็กพร้อมใช้เพื่อพ่นเข้าจมูก ในแต่ละขวดมี esketamine hydrochloride 32.3 มิลลิกรัม (เท่ากับ esketamine 28 มิลลิกรัม) พ่นได้ 2 ครั้ง ยาพ่นจมูกนี้ใช้ร่วมกับยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทาน โดยในช่วงแรกตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-4 (induction phase) ใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยวันแรกใช้ขนาด 56 มิลลิกรัม ต่อมาใช้ขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม (ขึ้นกับอาการโรคซึมเศร้าและอาการไม่พึงประสงค์ของยา) ช่วงต่อมา (maintenance phase) ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5-8 ใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม จากนั้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 9 เป็นต้นไป อาจใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือใช้ทุก 2 สัปดาห์ ในขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม ซึ่งความถี่ในการใช้ยาและขนาดยาปรับตามเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยให้มีความถี่น้อยครั้งที่สุดที่เพียงพอเพื่อการควบคุมอาการของโรคได้

การที่ esketamine nasal spray ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคซึมเศร้าดังกล่าวนั้น มีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 มาสนับสนุน มีทั้งการศึกษาระยะสั้นและการศึกษาระยะยาว ซึ่งการศึกษาระยะสั้นเป็นแบบ randomized, placebo-controlled, double-blind, multicenter trial นาน 4 สัปดาห์ ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 65 ปี ที่ผ่านการใช้ยาต้านซึมเศร้ามาแล้ว 2 การรักษาที่แตกต่างกัน แต่ยังควบคุมอาการได้ไม่เพียงพอ แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้ esketamine (114 คน) พ่นจมูกสัปดาห์ละ 2 ครั้งในขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม หรือพ่นยาหลอก (109 คน) ตลอดการศึกษานี้ผู้ป่วยทุกรายได้รับยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทานตัวใหม่ 1 ชนิด (อาจเป็น duloxetine, escitalopram, sertraline, หรือ extended-release venlafaxine ขึ้นกับประวัติการใช้ยาต้านซึมเศร้าว่าผ่านการใช้ยาใดมาก่อน) ผลการศึกษาพบว่ายาช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ส่วนการศึกษาระยะยาวเป็นแบบ randomized, double-blind, parallel-group, multicenter trial ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 65 ปี ที่ได้รับ esketamine nasal spray มาก่อนและยาช่วยควบคุมอาการโรคซึมเศร้าได้ (ทั้ง stable remission และ stable response) ให้ยาต่อไปอีก (esketamine nasal spray ร่วมกับยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทาน) รวมการได้รับยาในช่วงแรกนี้ 16 สัปดาห์ จากนั้นแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก (152 คน) ยังคงรักษาเช่นเดิมต่อไปด้วย esketamine nasal spray ขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือทุก 2 สัปดาห์ ร่วมกับยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทาน ส่วนกลุ่มที่เหลือ (145 คน) ได้รับยาหลอกร่วมกับยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทาน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ esketamine nasal spray มีการควบคุมอาการของโรคซึมเศร้าได้ดีกว่ากลุ่มยาหลอก โดยระยะเวลาที่กลับมามีอาการซึมเศร้าใช้เวลานานกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ของ esketamine nasal spray ที่อาจพบ เช่น บุคลิกภาพและการรับรู้ผิดปกติ เวียนศีรษะ มึนงง ง่วง คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล ความรู้สึกสัมผัสลดลง ความอิดโรย ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น จึงมีข้อแนะนำให้เฝ้าระวังผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงหลังการใช้ยา นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์และการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งการจัดจำหน่ายและการใช้ยานี้ต้องทำอย่างรัดกุมและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด

อ้างอิงจาก:

(1) Spravato (esketamine) nasal spray. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4399464, revised: 3/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/211243lbl.pdf; (2) Wilkinson ST, Sanacora G. A new generation of antidepressants: an update on the pharmaceutical pipeline for novel and rapid-acting therapeutics in mood disorders based on glutamate/GABA neurotransmitter systems. Drug Discov Today 2019;24:606-15; (3) Daly EJ, Trivedi MH, Janik A, Li H, Zhang Y, Li X, et al. Efficacy of esketamine nasal spray plus oral antidepressant treatment for relapse prevention in patients with treatment-resistant depression: a randomized clinical trial. JAMA Psychiatry 2019. doi: 10.1001/jamapsychiatry.2019.1189.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
esketamine S-ketamine S-enantiomer ketamine non-selective non-competitive N-methyl-D-aspartate NMDA ฤทธิ์ต้านซึมเศร้า โรคซึมเศร้า major depressive disorder ยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทาน esketamine hydrochloride esketamine nasal spray rand
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้