หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Risankizumab…monoclonal antibody ต่อ IL-23p19 subunit ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤษภาคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 3,048 ครั้ง
 
Interleukin-23 (IL-23) เป็น pro-inflammatory cytokine ที่มีบทบาทในการเกิดโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน (immune-mediated diseases) หลายอย่างที่มีปฏิกิริยาการอักเสบเกิดขึ้นด้วยซึ่งรวมถึงโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) การที่ IL-23 มีลักษณะเป็น heterodimer ประกอบด้วย 2 หน่วยย่อย (subunit) ได้แก่ p19 subunit (หรือ IL-23A) และ p40 subunit (หรือ IL-12p40) จึงมีการคิดค้นยาที่มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ต่อ p19 subunit หรือ p40 subunit เพื่อใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาที่วางจำหน่ายแล้ว เช่น ustekinumab (ออกฤทธิ์ต่อ P40 subunit), tildrakizumab (ออกฤทธิ์ต่อ P19 subunit), guselkumab (ออกฤทธิ์ต่อ P19 subunit) (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข่าวยาเรื่อง “IL-23p19 subunit…เป้าหมายใหม่ในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคสะเก็ดเงิน” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1411 และ “Guselkumab…monoclonal antibody ต่อ IL-23p19 subunit ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1412) สำหรับยาที่ออกฤทธิ์ต่อ P19 subunit ที่วางจำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้ คือ risankizumab

Risankizumab (ชื่ออื่น: risankizumab-rzaa) เป็น humanized IgG1 monoclonal antibody มีข้อบ่งใช้ในผู้ใหญ่สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (plaque psoriasis) ที่มีรอยโรคระดับปานกลางจนถึงรุนแรงที่ต้องการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทั่วร่างกาย (systemic therapy) หรือการรักษาโดยใช้แสง (phototherapy) ยานี้ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาน้ำสำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง บรรจุในหลอดยาฉีดสำหรับการให้ครั้งเดียว (single-dose prefilled syringe) ปริมาตร 0.83 มิลลิลิตร มีตัวยา 75 มิลลิกรัม ขนาดยาที่ใช้คือ 150 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 0, สัปดาห์ที่ 4 และหลังจากนั้นฉีดทุก 12 สัปดาห์

การที่ risankizumab ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาที่มีรอยโรคระดับปานกลางจนถึงรุนแรงจำนวน 4 การศึกษาที่เป็น randomized, double-blind, controlled trial ระยะที่ 3 มาสนับสนุน ได้แก่ ULTIMMA-1, ULTIMMA-2, IMMHANCE และ IMMVENT ทั้ง 4 การศึกษามีการประเมินผลการรักษาในสัปดาห์ที่ 16 ด้วยค่า Psoriasis Area and Severity Index score ซึ่งต้องมีรอยโรคดีขึ้นไม่น้อยกว่า 90% (PASI 90) และค่า static Physician’s Global Assessment (sPGA) โดยต้องไม่มีรอยโรคหรือมีรอยโรคเพียงเล็กน้อย ใน ULTIMMA-1 และ ULTIMMA-2 มีผู้ป่วยรวม 997 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ risankizumab ขนาด 150 มิลลิกรัม (598 คน) กลุ่มยาหลอก (200 คน) และกลุ่มที่ได้รับยาชีววัตถุอื่นที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน (199 คน) ให้ยาหรือยาหลอกโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังในสัปดาห์ที่ 0, สัปดาห์ที่ 4 และหลังจากนั้นให้ทุก 12 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าในสัปดาห์ที่ 16 กลุ่มที่ได้รับ risankizumab ให้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ (จุดยุติในการประเมินผลจะเทียบกับยาหลอก) และในสัปดาห์ที่ 52 กลุ่มที่ได้รับ risankizumab ให้ผลการรักษา 82% และ 81% (ใน ULTIMMA-1 และ ULTIMMA-2) เมื่อประเมินด้วย PASI 90 หากประเมินด้วย PASI 100 ให้ผลการรักษา 56% และ 60% ตามลำดับ

การศึกษา IMMHANCE มีผู้ป่วย 507 คน ได้รับ risankizumab (407 คน) หรือยาหลอก (100 คน) ในขนาดดังกล่าวข้างต้น ผลการศึกษาในสัปดาห์ที่ 16 พบว่ากลุ่มที่ได้รับ risankizumab ให้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญเมื่อประเมินผลด้วยค่า sPGA (ต้องไม่มีรอยโรคหรือมีรอยโรคเพียงเล็กน้อย) และค่า PASI 90 ส่วนการศึกษาสุดท้ายคือ IMMVENT เป็น multinational, randomized, double-blind, double-dummy, active-controlled trial เพื่อเปรียบเทียบกับ adalimumab โดยผู้ป่วยได้รับ risankizumab ขนาด 150 มิลลิกรัม (301 คน) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 0 และสัปดาห์ที่ 4 หรือได้รับ adalimumab ขนาด 80 มิลลิกรัม (304 คน) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 0 และตามด้วยขนาด 40 มิลลิกรัมทุก 2 สัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 15 จากนั้นทำการศึกษาต่อในสัปดาห์ที่ 16-44 โดยแบ่งผู้ป่วยในกลุ่ม adalimumab ที่ให้ผลการตอบสนองในสัปดาห์ที่ 16 อยู่ในช่วง PASI 50 ถึง PASI <90 ออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้ risankizumab ขนาด 150 มิลลิกรัม (53 คน) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 16, 20 และ 32 หรือให้ adalimumab ขนาด 40 มิลลิกรัม (56 คน) ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 2 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 41 ผลการศึกษาพบว่า risankizumab ให้ผลดีกว่า adalimumab อย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจะประเมินผลในช่วงแรกคือสัปดาห์ที่ 16 (PASI 90 เท่ากับ 72% เทียบกับ 47%) หรือช่วงหลังคือสัปดาห์ทื่ 44 ซึ่งกลุ่มที่เปลี่ยนมาใช้ risankizumab ให้ผลดีกว่ากลุ่ม adalimumab (PASI 90 เท่ากับ 66% เทียบกับ 21%) ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ของ risankizumab ที่พบ เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ปวดศีรษะ อ่อนล้า เกิดปฏิกิริยาผิดปกติตรงตำแหน่งที่ฉีดยา ติดเชื้อรา (tinea infections)

อ้างอิงจาก:

(1) Skyrizi (risankizumab-rzaa). Highlights of prescribing information. Reference ID: 4423209, revised: 4/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/761105s000lbl.pdf; (2) Skyrizi (risankizumab-rzaa). https://www.centerwatch.com/drug-information/fda-approved-drugs/drug/100380/skyrizi-risankizumab-rzaa-; (3) McKeage K, Duggan S. Risankizumab: first global approval. Drugs 2019;79:893-900.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
risankizumab ustekinumab P40 subunit P19 subunit tildrakizumab monoclonal antibody IL-23p19 subunit โรคสะเก็ดเงิน interleukin-23 IL-23 pro-inflammatory cytokine โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน immune-mediated diseases psoriasis heterodimer p19 s
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้