หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Proton pump inhibitors (PPIs) กับการใช้ที่เกินความจำเป็นหรือไม่?

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 56,004 ครั้ง
 

ยากลุ่ม proton pump inhibitors หรือ PPIs เป็นยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ proton pump หรือเอนไซม์ hydrogen/potassium adenosine triphosphatase (หรือ H+/K+ ATPase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำงานในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น omeprazole, esomeprazole, lansoprazole, dexlansoprazole, pantoprazole, rabeprazole เป็นยาที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในการรักษาโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร เช่น รักษาโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD) รักษาและควบคุมภาวะหลอดอาหารอักเสบมีแผล (erosive esophagitis) รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcers) รักษาโรคแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcers) รักษาและป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากการใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID-induced ulcers) รักษาภาวะที่มีการหลั่งกรดมากเกิน (รวมถึง Zollinger-Ellison syndrome) รักษาการติดเชื้อ Helicobacter pylori (แบคทีเรียชนิดนี้เป็นจุลชีพประจำถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการเกิดแผลในทางเดินอาหารที่เนื่องจากกรด) โดยใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพ

การที่ PPIs มีประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่างและเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย จึงมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในสถานพยาบาลและการซื้อมาใช้เอง มีการใช้ยาเกินข้อบ่งใช้ การใช้เกินขนาด และการใช้นานเกินกว่าข้อแนะนำ ซึ่งนอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้วยังอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่างโดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานาน เช่น ลดการดูดซึมสารอาหาร ลดการดูดซึมเหล็ก ลดการดูดซึมวิตามินบี 12 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ เกิดภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ เพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหัก เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม เกิดผลเสียต่อไต ยับยั้งเอนไซม์ในกลุ่ม CYP450 จึงเกิดปฏิกิริยากับยาหลายชนิด แม้ว่ากลไกการเกิดผลเสียดังกล่าวข้างต้นบางอย่างยังไม่อาจอธิบายได้ ตลอดจนรายงานที่เกี่ยวข้องกับอาการไม่พึงประสงค์อาจไม่ไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคืออาจมีความสัมพันธ์น้อยกับการใช้ PPIs (ดูรูป) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในหลายประเทศได้มีการทบทวนการใช้ PPIs ในข้อบ่งใช้ต่างๆ ในเบื้องต้นหลายหน่วยงานได้มีข้อแนะนำถึงแนวทางในการพิจารณาปรับลดการใช้ PPIs ตัวอย่างข้อแนะนำ เช่น

- การปรับลดการใช้นั้นครอบคลุมถึง การลดขนาดยา การลดระยะเวลาที่ใช้ยา การใช้ยาเป็นช่วง (intermittent use) หรือการใช้ตามต้องการเมื่อจำเป็น (on demand use) และการหยุดใช้

- ช่วงที่มีการปรับลดการใช้ยา อาจเปลี่ยนมาใช้ histamine 2 receptor antagonists หรือยาลดกรด (antacids) ชนิดรับประทาน

- การใช้ยาระยะยาวอาจพิจารณาใช้ในบางกรณี เช่น Barrett’s esophagus, หลอดอาหารอักเสบรุนแรงถึงขั้นที่เคยตีบมาแล้วหรือมีเลือดออก, peptic ulcers ที่มีเลือดออกรุนแรง, Zollinger- Ellison Syndrome, การใช้ป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารเนื่องจากการใช้ NSAIDs ในผู้ที่มีความเสี่ยง (เช่น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติเลือดออกหรือเกิดแผลทะลุที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ผู้ที่ใช้ยาอื่นที่เสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารร่วมด้วย ผู้ที่ใช้ NSAIDs ขนาดสูง ผู้ที่ใช้ NSAIDs เป็นเวลานาน)

- พิจารณาลดการใช้ PPIs ในผู้ที่ได้รับการรักษาครบระยะเวลาขั้นต่ำ 4 สัปดาห์แล้ว (หากไม่ใช่กรณีที่ต้องใช้ยาระยะยาวดังกล่าวข้างต้น) โดยค่อยๆ ลดขนาดลง อาจทำโดยลดลงครึ่งหนึ่งในทุก 1-2 สัปดาห์จนถึงหยุดใช้ หรือเว้นช่วงห่างจากการใช้ยาทุกวันเป็นใช้ทุก 2-3 วัน และในช่วงที่ลดขนาดยาหรือเว้นช่วงห่างนั้นอาจพิจารณาใช้ histamine 2 receptor antagonists หรือยาลดกรดชนิดรับประทาน

- ควรประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ โดยคำถึงประโยชน์ที่ได้รับจากยาเทียบกับความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับลดการใช้ต่อไป

อ้างอิงจาก:

(1) Targownik L. Discontinuing long-term PPI therapy: why, with whom, and how? Am J Gastroenterol 2018;113:519-28; (2) Kinoshita Y, Ishimura N, Ishihara S. Advantages and disadvantages of long-term proton pump inhibitor use. J Neurogastroenterol Motil 2018;24:182-96; (3) Yadlapati R, Kahrilas PJ. The "dangers" of chronic proton pump inhibitor use. J Allergy Clin Immunol 2018;141:79-81; (4) All Wales Medicines Strategy Group. Safe use of proton pump inhibitors, February 2018. http://www.awmsg.org/docs/awmsg/medman/Safe%20Use%20of%20Proton%20Pump%20Inhibitors.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
proton pump inhibitors ยายับยั้งการหลั่งกรด proton pump hydrogen/potassium adenosine triphosphatase H+/K+ ATPase omeprazole esomeprazole lansoprazole dexlansoprazole pantoprazole rabeprazole รักษาโรคกรดไหลย้อน gastroesophageal reflux dise
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้