หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Proton pump inhibitors (PPIs) กับภาวะขาดเหล็กและการเกิดโรคโลหิตจาง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ตุลาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 6,290 ครั้ง
 
ยากลุ่ม proton pump inhibitors หรือ PPIs เป็นยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ proton pump หรือเอนไซม์ hydrogen/potassium adenosine triphosphatase (หรือ H+/K+ ATPase) การใช้ยาเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง รวมถึงภาวะขาดเหล็กและการเกิดโรคโลหิตจางจากการขาดเหล็ก (iron deficiency anemia) (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “Proton pump inhibitors (PPIs) กับการใช้ที่เกินความจำเป็นหรือไม่?” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2561 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1480)

เหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน (hemoglobin) การขาดเหล็กทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิด microcytic anemia ได้ ทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานถึงผลการศึกษาแบบ case-control study เพื่อศึกษาถึงภาวะกรดในกระเพาะอาหารน้อย (hypochlorhydria) จากการใช้ยา PPIs ได้แก่ omeprazole, pantoprazole, lansoprazole, rabeprazole, esomeprazole และ dexlansoprazole กับภาวะขาดเหล็ก มีผู้เข้าร่วมในการศึกษาทั้งสิ้น 53,612 คน ผลการศึกษาพบความสัมพันธ์ของการใช้ PPIs กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะขาดเหล็ก โดยขึ้นกับขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา หากพิจารณาผลในผู้ที่ใช้ยานานกว่า 1 ปีพบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดเหล็กไม่ได้เพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานถึงการเกิดโรคโลหิตจางชนิด microcytic anemia ในผู้ป่วยอายุ 52 ปีรายหนึ่งซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD) และรับประทาน omeprazole เรื่อยมาเป็นเวลานานถึง 25 ปี ในรายงานคาดว่าโรคโลหิตจางดังกล่าวเกิดเนื่องจากการดูดซึมเหล็กจากทางเดินอาหารลดลง อันเป็นผลมาจากกรดในกระเพาะอาหารมีปริมาณลดลงเพราะการใช้ omeprazole ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม PPIs

อ้างอิงจาก:

(1) Tran-Duy A, Connell NJ, Vanmolkot FH, Souverein PC, de Wit NJ, Stehouwer CDA, et al. Use of proton pump inhibitors and risk of iron deficiency: a population-based case-control study. J Intern Med 2018. doi: 10.1111/joim.12826; (2) Imai R, Higuchi T, Morimoto M, Koyamada R, Okada S. Iron deficiency anemia due to the long-term use of a proton pump inhibitor. Intern Med 2018;57:899-901.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
proton pump inhibitors PPIs ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร proton pump hydrogen/potassium adenosine triphosphatase H+/K+ ATPase omeprazole esomeprazole lansoprazole dexlansoprazole pantoprazole rabeprazole ภาวะขาดเหล็ก การเกิดโรคโลหิ
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้