หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Daclizumab…อาจทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ (ชนิด immune-mediated encephalitis) แม้หยุดใช้ยาแล้วหลายเดือน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กันยายน ปี 2561 -- อ่านแล้ว 3,624 ครั้ง
 
จากการที่มีรายงานถึงปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ของ daclizumab เกี่ยวกับการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรค multiple sclerosis ทำให้เกิดตับอักเสบ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบและความผิดปกติที่อวัยวะอื่น ทำให้เมื่อไม่นานมานี้มีการเรียกเก็บยานี้ (Zinbryta ในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรค multiple sclerosis) จากตลาดยาในสหภาพยุโรป ภาวะสมองอักเสบที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน (immune-mediated encephalitis) ซึ่งเป็นภูมิต้านตนเอง จากรายงานพบในผู้ที่ใช้ daclizumab หรือหยุดใช้แล้ว พบทั้งชนิดที่สร้างแอนติบอดีต้านตัวรับ N-methyl D-aspartate (anti-NMDA receptor encephalitis) และชนิด glial fibrillary acidic protein (GFAP)α immunoglobulin G-associated encephalitis (หรือ GFAPα IgG-associated encephalitis) ภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกันดังกล่าวอาจเป็นรุนแรงและทำให้ร่างกายทรุดโทรมเรื้อรังจนเสียชีวิตได้ แต่สามารถรักษาจนกลับเป็นปกติได้ในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวินิจฉัยและให้การรักษาได้เร็ว อย่างไรก็ตามจากกรณีที่พบในรายงานนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่หายเป็นปกติ

ในสหราชอาณาจักรโดยหน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เกิดภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกันในผู้ที่ใช้ daclizumab เพื่อรักษาโรค multiple sclerosis ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 แยกเป็นกรณีที่พบภายหลังหยุดใช้ยาแล้วมี 7 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่ได้รับการยืนยันว่าเป็น anti-NMDA receptor encephalitis ซึ่งเกิดหลังจากหยุดใช้ยาไปแล้วราว 3-4 เดือน ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อาเจียน สับสน สั่น การมองเห็นผิดปกติ และชัก ส่วนผู้ป่วยสมองอักเสบรายอื่นๆ ที่เหลือ บางรายพบความผิดปกติ เช่น ผื่นขึ้นกระจายเป็นบริเวณกว้าง ผิวหนังอักเสบ ระดับเอนไซม์ตับในซีรัมสูงขึ้น เกิดภาวะ eosinophilia และ/หรือ มี eosinophilic infiltrates ส่วนกรณีที่พบขณะใช้ยามี 1 ราย เพิ่งปรากฏในรายงานเมื่อไม่นานมานี้ เป็นชนิด GFAPα IgG-associated encephalitis ผู้ป่วยแสดงอาการผิดปกติทางระบบประสาท มีพฤติกรรมก้าวร้าว และบางครั้งมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเมื่อรักษาด้วย methylprednisolone และการทำ plasma exchange

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ในสหราชอาณาจักรโดยหน่วยงาน Medicines and Healthcare products Regulatory Agency ได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ไว้ดังนี้

- มีรายงานถึงภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งรวมถึง anti-NMDA receptor encephalitis เกิดขึ้นหลังจากหยุดใช้ daclizumab ไปแล้วหลายเดือน

- แพทย์ผู้สั่งจ่าย daclizumab ควรติดต่อผู้ป่วยที่หยุดใช้ยาแล้วและคนดูแลผู้ป่วย เพื่อให้คำแนะนำว่าให้รีบติดต่อแพทย์ทันทีหากเริ่มมีสัญญานบอกถึงอาการผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการทางจิต ระบบประสาท พฤติกรรม การรับรู้ หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

- ผู้ป่วยหลังจากหยุดใช้ daclizumab หากแสดงอาการผิดปกติทางจิตประสาท (neuropsychiatric symptoms) ควรได้รับการตรวจเพื่อประเมินถึงภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกัน ด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจนและจำเพาะ

- แพทย์ควรเฝ้าระวังถึงอาการที่จะบ่งชี้ถึงภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยหลังจากหยุดใช้ daclizumab โดยติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือนหลังจากหยุดใช้ยา

- ระวังด้วยว่าผู้ป่วยอาจเกิด GFAPα IgG-associated encephalitis (ตามที่มีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้)

- หากสงสัยว่าอาจเกิดภาวะสมองอักเสบในผู้ป่วยที่หยุดใช้ daclizumab ควรพิจารณาทำการทดสอบหาแอนติบอดีต่างๆ รวมถึง anti-NMDA receptor antibody ในน้ำไขสันหลังและในซีรัมโดยเร็วที่สุด

- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและการรักษาภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกัน ควรต้องประเมินผู้ป่วยทุกรายที่เข้าข่ายสงสัยว่าจะเกิดภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ป่วยภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกันหลายรายอาจตรวจไม่พบแอนติบอดีที่คาดหวัง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยการวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกด้วย

อ้างอิงจาก:

(1) Daclizumab beta (Zinbryta): risk of immune-mediated encephalitis – some cases several months after stopping treatment. Drug Safety Update volume 12, issue 2; September 2018:3; (2) Luessi F, Engel S, Spreer A, Bittner S, Zipp F. GFAPα IgG-associated encephalitis upon daclizumab treatment of MS. Neurol Neuroimmunol Neuroinflamm 2018. doi:10.1212/NXI.0000000000000481.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
daclizumab multiple sclerosis ภาวะสมองอักเสบเหตุจากภูมิคุ้มกัน immune-mediated encephalitis N-methyl D-aspartate anti-NMDA receptor encephalitis glial fibrillary acidic protein GFAP GFAPα IgG-associated encephalitis eosinophilia eosino
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้