หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Dolutegravir กับความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน สิงหาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 15,324 ครั้ง
 

ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่เกิดกับท่อประสาทที่ไขสันหลังหรือสมอง ความบกพร่องที่พบบ่อยเป็นชนิดท่อประสาทไม่ปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะกระดูกสันหลังโหว่ (spina bifida) ซึ่งเกิดความพิการไปตลอดชีวิต และภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด (anencephaly) หรือสภาพที่ไร้สมองใหญ่ซึ่งทารกมักเสียชีวิต สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความบกพร่องของท่อประสาทคือการขาดโฟเลต (วิตามินบี 9) ในช่วงที่มารดาตั้งครรภ์ และอาจรวมถึงการขาดวิตามินบี 12 ด้วย ส่วนสาเหตุอื่นพบได้บ้าง เช่น พันธุกรรม การสูบบุหรี่ช่วงตั้งครรภ์ การได้รับยาบางชนิดช่วงตั้งครรภ์ เช่น opioids, valproic acid (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเรื่อง “Valproate…เพิ่มมาตรการจำกัดการใช้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2560 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1397 และเรื่อง “Valproic acid ไม่ปลอดภัยในหญิงมีครรภ์” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2557 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1254) และเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานถึงความเสี่ยงต่อความบกพร่องของท่อประสาทในทารกที่มารดารับประทาน dolutegravir ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์

Dolutegravir เป็นยาในกลุ่ม antiretroviral drugs ใช้รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุกว่า 12 ปี โดยใช้ร่วมกับยาต้านเอชไอวีชนิดอื่น ยานี้ออกฤทธิ์ขัดขวางการกระจายของไวรัส โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ integrase (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเรื่อง “Integrase inhibitors...จากยาเดี่ยวมาสู่ยาสูตรผสม” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มีนาคม ปี 2558 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1272) จากผลการศึกษาที่ Botswana (Tsepamo Study) ในเบื้องต้นพบว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและมารดาเริ่มรับประทาน dolutegravir ตั้งแต่มีการปฏิสนธิ (เริ่มตั้งครรภ์) นั้น มีความบกพร่องของท่อประสาทได้ 0.94% (4 คน จากจำนวนทารก 426 คน) ในขณะที่พบเพียง 0.12% (14 คน จากจำนวนทารก 11,300 คน) ของทารกที่คลอดจากมารดาที่เริ่มรับประทานยาต้านเอชไอวีชนิดอื่นตั้งแต่มีการปฏิสนธิ แต่ไม่พบทารกที่มีความผิดปกติดังกล่าว (0 คน จากจำนวนทารก 2,812 คน) หากมารดาเริ่มรับประทาน dolutegravir ในช่วงถัดมาของการตั้งครรภ์ ในขณะที่ความบกพร่องของท่อประสาทพบได้ 0.09% (61 คน จากจำนวนทารก 66,057 คน) ของทารกที่คลอดจากมารดาที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี (ดูรูป) ขณะนี้ยังรอผลการศึกษาที่สมบูรณ์ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า

จากผลการศึกษาเบื้องต้นดังที่กล่าวมา ซึ่งพบว่าความเสี่ยงต่อความบกพร่องของท่อประสาทในทารกมีสูงขึ้นหากมารดาเริ่มรับประทาน dolutegravir ตั้งแต่ช่วงที่มีการปฏิสนธิ (เริ่มตั้งครรภ์) ซึ่งช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่เริ่มมีการสร้างไขสันหลัง สมอง และโครงสร้างอื่นของระบบประสาท ในขณะที่ไม่พบความบกพร่องของท่อประสาทหากมารดาเริ่มรับประทาน dolutegravir ในช่วงถัดมาของการตั้งครรภ์ ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการติดตามความปลอดภัยในการใช้ยา เช่น FDA ของสหรัฐอเมริกา หน่วยงาน Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC) ของ European Medicines Agency (EMA) และหน่วยงาน Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency (MHRA) ของสหราชอาณาจักร ได้มีคำเตือนที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการใช้ dolutegravir ในช่วงตั้งครรภ์ โดยมีข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ (แล้วแต่กรณี) สรุปได้ดังนี้

• ควรพิจารณาให้ยาต้านเอชไอวีชนิดอื่นที่ไม่ใช่ dolutegravir ในสตรีที่จะมีการตั้งครรภ์ เนื่องจากยามีความเสี่ยงต่อความบกพร่องของท่อประสาทในทารก

• อธิบายให้สตรีวัยที่พร้อมจะมีบุตรได้ทราบถึงประโยชน์จากการใช้ dolutegravir เทียบกับความเสี่ยงที่มีต่อทารกในครรภ์

• สตรีวัยที่พร้อมจะมีบุตร ควรทดสอบว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนที่จะเริ่มใช้ dolutegravir และแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพตลอดช่วงที่รับประทานยา

• สตรีที่รับประทาน dolutegravir อยู่แล้วหากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ในช่วงไตรมาสแรกควรเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นเว้นแต่ว่าจะไม่มียาอื่นให้เลือกใช้ และสตรีที่รับประทาน dolutegravir อยู่แล้ว ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ เพราะอาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น

• ข้อแนะนำการใช้ยา dolutegravir ในสตรีที่ตั้งครรภ์ อาจมีการปรับปรุงข้อมูลใหม่ตามความจำเป็นภายหลังการศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้นสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์

อ้างอิงจาก:

(1) FDA Drug Safety Communication: FDA to evaluate potential risk of neural tube birth defects with HIV medicine dolutegravir (Juluca, Tivicay, Triumeq) (May 18, 2018). https://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm608112.htm; (2) European Medicines Agency. New study suggests risk of birth defects in babies born to women on HIV medicine dolutegravir. 18 May 2018, EMA/295960/2018. (3) Dolutegravir (Tivicay, Triumeq, Juluca): signal of increased risk of neural tube defects; do not prescribe to women seeking to become pregnant; exclude pregnancy before initiation and advise use of effective contraception. Drug Safety Update volume 11 issue 10; June 2018: 1; (4) Makhema J, Shapiro RL. Neural-tube defects with dolutegravir treatment from the time of conception. N Engl J Med 2018. doi: 10.1056/NEJMc1807653.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ความบกพร่องของท่อประสาท neural tube defects ภาวะกระดูกสันหลังโหว่ spina bifida ภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด anencephaly สภาพที่ไร้สมองใหญ่ โฟเลต วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 opioids valproic acid valproate dolutegravir antiretroviral drugs โรคติด
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้