หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาสูดกำหนดขนาด (MDI)…ภัยจากฝาครอบและการสูดฝุ่นผงหรือวัตถุแปลกปลอม

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน สิงหาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 5,065 ครั้ง
 
ยาสูด (inhaler) เป็นยารูปแบบหนึ่งที่ใช้กันมากในการรักษาโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด (asthma) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) โดยเฉพาะชนิดที่เป็นยาสูดกำหนดขนาด (metered-dose inhaler หรือ MDI) ที่พ่นยาเข้าทางปากโดยตรงด้วยแรงดันจากก๊าซเหลวที่บรรจุอยู่ในขวดบรรจุยา (pressurized MDI) ก่อนใช้ยารูปแบบนี้ต้องเปิดฝาครอบปลายปากสูด (mouthpiece) ออกให้เรียบร้อย พร้อมทั้งตรวจสอบความสะอาดของปลายปากสูด รวมถึงตรวจดูสิ่งแปลกปลอมที่อาจเข้าไปติดอยู่ด้านในของปลายปากสูด เมื่อกดขวดบรรจุยาจะมีตัวยาฉีดพ่นเป็นละอองฝอยเข้าสู่ทางเดินหายใจพร้อมกับอากาศที่หายใจเข้า

การใช้ยาสูดต้องคำนึงถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้อง การพ่นยาและสูดยาที่ไม่ถูกต้องอาจให้ประสิทธิผลในการรักษาไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากอุปกรณ์ที่อยู่ในสภาพไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งาน เช่น ไม่ได้เปิดฝาครอบปลายปากสูดออกโดยสมบูรณ์จนอาจเป็นเหตุให้ฝาครอบหลุดเข้าไปในปากขณะพ่นยา หรือลืมปิดฝาครอบปลายปากสูดหลังพ่นยาเสร็จ ทำให้มีฝุ่นผงและสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอยู่ด้านใน ขณะสูดยาสิ่งเหล่านั้นจึงเข้าสู่ทางเดินหายใจด้วยและอาจอุดกั้นทางเดินหายใจได้ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ ในสหราชอาณาจักรโดยหน่วยงาน Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency (MHRA) ได้ทบทวนข้อมูลและพบรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ใช้ MDI แล้วสูดเอาบางสิ่งเข้าปากหรือลำคอ ซึ่งมีทั้งฝาครอบปลายปากสูด ฝุ่นผงและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น ทิชชู สติกเกอร์ เหรียญ เศษพลาสติก โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 มีจำนวน 22 ราย และเกิดขึ้นนอกสหราชอาณาจักรอีก 36 ราย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ บาดเจ็บที่คอหอย ทางเดินหายใจอุดกั้น หายใจไม่ออกชั่วขณะ เกิดภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (pneumothorax) บางรายอาจต้องผ่าตัดนำสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้องค์กรดังกล่าวได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งสูดสิ่งแปลกปลอมเข้าทางเดินหายใจจนติดแน่นกับหลอดลมและเกิด granulation ต้องส่องกล้องเพื่อนำออกมา หากเทียบกับจำนวนผู้ที่ใช้ MDI ทั้งหมดแล้วถือได้ว่าการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวจนถึงขั้นทำให้บาดเจ็บร้ายแรงนั้นพบได้น้อย (rare) อย่างไรก็ตาม องค์กรดังกล่าวได้มีข้อแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายยารูปแบบ MDI ไว้ดังนี้

- ฝึกหัดให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาสูดได้อย่างถูกต้อง และจัดให้มีเอกสารแนะนำวิธีการใช้ยาสูดสำหรับผู้ป่วย

- แจ้งเตือนผู้ป่วยว่า ก่อนพ่นยาให้ปฏิบัติดังนี้ เปิดฝาครอบปลายปากสูดออกโดยสมบูรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้ฝาครอบหลุดเข้าปากซึ่งอาจอุดกั้นทางเดินหายใจ เขย่าอุปกรณ์เพื่อขจัดฝุ่นผงที่อาจติดอยู่บริเวณปลายปากสูด และตรวจดูปลายปากสูดทั้งด้านในและด้านนอกว่าสะอาดปราศจากสิ่งแปลกปลอม

- แจ้งเตือนผู้ป่วยว่า หลังพ่นยาให้รีบปิดฝาครอบปลายปากสูดให้สนิท โดยดันฝาครอบให้สุดจนได้ยินเสียงดังคลิ้ก เพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปบริเวณปลายปากสูดในช่วงที่เก็บยา

- เภสัชกรที่ส่งมอบยา ควรย้ำเตือนผู้ป่วยถึงเรื่องการทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอตามที่ระบุในเอกสารแนะนำวิธีการใช้ยาสูดสำหรับผู้ป่วย พร้อมทั้งให้ตรวจดูชุดอุปกรณ์ยาสูดว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ หากพบความบกพร่องให้เปลี่ยนใหม่ทันที

อ้างอิงจาก

Pressurised metered dose inhalers (pMDI): risk of airway obstruction from aspiration of loose objects. Drug Safety Update volume 11, issue 12; July 2018: 2.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาสูด inhaler โรคทางเดินหายใจ โรคหืด asthma โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง chronic obstructive pulmonary disease ยาสูดกำหนดขนาด metered-dose inhaler MDI pressurized MDI Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency MHRA ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอด
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้