แอนโดรเจน (androgens) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยยาต้านแอนโดรเจน (antiandrogens) นั้นมีมานานแล้ว ยาที่มีบทบาทมากเป็นยาสังเคราะห์ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (หรือไม่ใช่ฮอร์โมน) ออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนที่ตัวรับ (androgen receptor antagonists) สามารถต้านฤทธิ์ testosterone และ dihydrotestosterone ที่ต่อมลูกหมากและที่อื่นๆ ยารุ่นแรก (first generation nonsteroidal antiandrogens) ได้แก่ flutamide และ nilutamide ยารุ่นที่สอง (second generation nonsteroidal antiandrogen) ได้แก่ bicalutamide และยารุ่นที่สาม (third generation nonsteroidal antiandrogens) ได้แก่ enzalutamide, apalutamide และ darolutamide (ดูรูป) ซึ่งยา enzalutamide มีจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ส่วน apalutamide เป็นยาใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อต้นปีนี้ สำหรับ darolutamide นั้นขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3
Apalutamide ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดไม่แพร่กระจายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีการกำจัดแอนโดรเจน (non-metastatic castration-resistant prostate cancer) ไม่ว่าจะทำโดยการผ่าตัดอัณฑะออกทั้งสองข้าง (bilateral orchiectomy) หรือการใช้ยาในกลุ่ม gonadotropin-releasing hormone (GnRH) analogs ยานี้ผลิตในรูปยาเม็ด ขนาดความแรง 60 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 240 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยใช้กับผู้ที่ผ่าตัดอัณฑะออกทั้งสองข้าง หรือใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม GnRH analogs การที่ apalutamide ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุน (SPARTAN trial) เป็น randomized, double-blind, placebo-controlled, multicenter trial ระยะที่ 3 ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดไม่แพร่กระจายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีการกำจัดแอนโดรเจนจำนวน 1,207 คน แบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มในอัตราส่วน 2:1 เพื่อให้ apalutamide 240 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง (n=806) หรือยาหลอก (n=401) ผู้ป่วยเหล่านี้ทุกรายหากไม่ไช่ผู้ที่ผ่าตัดอัณฑะออกทั้งสองข้างก็จะได้รับ GnRH analog ร่วมด้วย ระยะเวลาที่ได้รับยามีค่ากลาง (median) อยู่ที่ 16.9 เดือน (ช่วง 0.1 ถึง 42 เดือน) และระยะเวลาที่ได้รับยาหลอกมีค่ากลางอยู่ที่ 11.2 เดือน (ช่วง 0.1 ถึง 37 เดือน) วัตถุประสงค์หลักที่จะประเมินคือการรอดชีวิตโดยปราศจากการแพร่กระจายของมะเร็ง (metastasis-free survival) ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ apalutamide ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นหรือการเสียชีวิตลง 72% ค่ากลางของระยะเวลาการรอดชีวิตโดยปราศจากการแพร่กระจายของมะเร็งเท่ากับ 40.51 เดือน เทียบกับ 16.20 เดือนในกลุ่มยาหลอก ส่วนวัตถุประสงค์อื่นที่นำมาประเมินด้วย เช่น ระยะเวลาก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น (time to metastasis) การรอดชีวิตโดยปราศจากการลุกลามของมะเร็ง (progression-free survival) ระยะเวลาก่อนมีอาการมากขึ้น (time to symptomatic progression) ซึ่งพบว่ากลุ่มที่ได้รับ apalutamide ให้ผลดีกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่ากลางสำหรับ time to metastasis เท่ากับ 40.51 เดือน เทียบกับกลุ่มยาหลอก 16.59 เดือน (p<0.0001) และค่ากลางสำหรับระยะเวลา progression-free survival เท่ากับ 40.51 เดือน เทียบกับกลุ่มยาหลอก 14.72 เดือน (p<0.0001) อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น อ่อนล้า ความดันโลหิตสูง ผื่นขึ้น ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ปวดข้อ
อ้างอิงจาก:
(1) Erleadatm (apalutamide). Highlights of prescribing information. Reference ID: 4221951, revised: 02/2018. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/210951s000lbl.pdf; (2) Al-Salama ZT. Apalutamide: first global approval. Drugs 2018;78:699-705; (3) Crawford ED, Schellhammer PF, McLeod DG, Moul JW, Higano CS, Shore N, et al. Androgen receptor targeted treatments of prostate cancer: 35 years of progress with antiandrogens. J Urol 2018. doi: 10.1016/j.juro.2018.04.083.