Pioglitazone เป็นยารักษาโรคเบาหวาน (antidiabetic drug) ในกลุ่ม thiazolidinediones ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes) การใช้ยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (bladder cancer) หรือไม่นั้นยังไม่อาจสรุปได้ เนื่องจากผลการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน แม้กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการศึกษาขนาดใหญ่ทำในผู้ป่วยจำนวนมากก็ให้ผลการศึกษาที่ต่างกัน ตัวอย่างของกรณีที่พบความสัมพันธ์ของการใช้ pioglitazone กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีการศึกษาแบบ population based cohort study ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 145,806 คนที่เพิ่งเริ่มได้รับยารักษาโรคเบาหวานในช่วง 1 มกราคม ปี 2000 ถึง 31 กรกฎาคม ปี 2013 มีการติดตามประเมินผลจนถึง 31 กรกฎาคม ปี 2014 ซึ่งคิดเป็น 689,616 person years พบโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยจำนวน 622 คน (90.2 per 100,000 person years) โดยพบในผู้ที่ได้รับ pioglitazone มากกว่าผู้ที่ได้รับยารักษาโรคเบาหวานที่ไม่ใช่ thiazolidinediones (121.0 per 100,000 person years เทียบกับ 88.9 per 100,000 person years) ค่า adjusted hazard ratio (95% CI) เท่ากับ 1.63 (1.22-2.19) ในขณะที่พบในผู้ที่ได้รับ rosiglitazone ได้พอๆ กับผู้ที่ได้รับยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่อื่นที่ไม่ใช่ thiazolidinediones (86.2 per 100,000 person years เทียบกับ 88.9 per 100,000 person years) ค่า adjusted hazard ratio (95% CI) เท่ากับ 1.10 (0.83-1.47) ซึ่งความเสี่ยงจากการใช้ pioglitazone ต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้นยังสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ใช้ยาและขนาดยาสะสม (cumulative dose) ผลการศึกษานี้สรุปว่าการใช้ pioglitazone มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเมื่อเทียบกับการใช้ยารักษาโรคเบาหวานที่ไม่ใช่ thiazolidinediones และความเสี่ยงนี้เกิดเฉพาะกับ pioglitazone ไม่ใช่ class effect เนื่องจากการใช้ rosiglitazone ไม่เพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว
ส่วนการศึกษาที่ไม่พบการเพิ่มความเสี่ยง เช่น มีการศึกษาแบบ retrospective cohort study ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับ pioglitazone จำนวน 56,337 คน เทียบกับผู้ที่ได้รับยารักษาเบาหวานที่ไม่ใช่ pioglitazone จำนวน 317,109 คน ระยะเวลาติดตามประเมินผลเฉลี่ยเท่ากับ 2.9 ปีสำหรับกลุ่ม pioglitazone และเท่ากับ 2.8 ปี (กรณี nearest match cohort) หรือ 2.9 ปี (กรณี multiple match cohort) ในกลุ่มที่ไม่ได้รับ pioglitazone ผลการศึกษาพบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในผู้ที่ได้รับ pioglitazone ไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่เคยได้รับ pioglitazone โดยมีค่า adjusted hazard ratio (95% CI) เท่ากับ 0.99 (0.75-1.30) สำหรับ nearest match cohort และ 1.00 (0.83-1.21) สำหรับ multiple match cohort นอกจากนี้ยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของระยะเวลาที่ใช้ยาและขนาดยาสะสมไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเช่นกัน โดยที่ค่า adjusted hazard ratio (95% CI) เท่ากับ 0.86 (0.44-1.66) เมื่อใช้ยานานกว่า 48 เดือน และเท่ากับ 0.65 (0.33-1.26) เมื่อใช้ขนาดยาสะสมมากกว่า 40,000 มิลลิกรัม (กรณี nearest match cohort) การศึกษานี้สรุปว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ pioglitazone กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเมื่อเทียบกับการไม่เคยใช้ pioglitazone
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าการใช้ยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในการใช้ยาในบางประเทศได้ทบทวนข้อมูลด้วยเช่นกัน เช่น USFDA และมีข้อสรุปออกมาเมื่อไม่นานมานี้ (เดือนธันวาคม 2559) ว่าผลการศึกษาที่ได้จากการทบทวนข้อมูลทำให้คาดว่าการใช้ pioglitazone อาจสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะพร้อมทั้งให้มีการปรับปรุงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ยาโดยเพิ่มผลการศึกษาดังกล่าวไว้ด้วย
อ้างอิงจาก:
(1) Li Z, Sun M, Wang F, Shi J, Wang K. Association between pioglitazone use and the risk of bladder cancer among subjects with diabetes mellitus: a dose-response meta-analysis
. Int J Clin Pharmacol Ther 2016. doi: 10.5414/CP202670; (2) Korhonen P, Heintjes EM, Williams R, Hoti F, Christopher S, Majak M, et al. Pioglitazone use and risk of bladder cancer in patients with type 2 diabetes: retrospective cohort study using datasets from four European countries. BMJ 2016;354:i3903. doi: 10.1136/bmj.i3903; (3)Tuccori M, Filion KB, Yin H, Yu OH, Platt RW, Azoulay L. Pioglitazone use and risk of bladder cancer: population based cohort study. BMJ 2016;352:i1541. doi: 10.1136/bmj.i1541; (4) Dong Y, Wang A. Pioglitazone does not increase the risk of type II diabetes in patients with bladder cancer: A retrospective study. Oncol Lett 2016;12:89-92; (5) FDA Drug Safety Podcast: Updated FDA review concludes that use of pioglitazone may be linked to an increased risk of bladder cancer. http://www.fda.gov/drugs/drugsafety/drugsafetypodcasts/ucm534865.htm
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
pioglitazone
ยารักษาโรคเบาหวาน
antidiabetic drug
thiazolidinedione
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
type 2 diabetes
ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
bladder cancer
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
population based cohort study
person years