หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Warfarin กับความเสี่ยงต่อการเกิด calciphylaxis

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2559 -- อ่านแล้ว 7,208 ครั้ง
 

Calciphylaxis (หรือที่รู้จักในชื่ออื่นว่า calcific uremic arteriolopathy) เป็นภาวะที่มีแคลเซียมเกาะหลอดเลือดจนเกิดอุดตันส่งผลให้มีการตายของเนื้อเยื่อและผิวหนังบริเวณนั้น เกิดขึ้นยากแต่เป็นอันตรายมากและมีอัตราตายสูง พบได้ในผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากสาเหตุต่างๆ อาจเกิดร่วมกับภาวะ uremia หรือไม่ก็ได้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (end-stage renal disease) และ/หรือผู้ป่วยที่มีภาวะ hyperparathyroidism แต่อาจเกิดในผู้อื่นได้ด้วย ได้มีรายงานถึงการเกิด calciphylaxis ในผู้ที่ใช้ warfarin (ดูรูป) ทั้งผู้ที่มีประวัติเป็นโรคไตและผู้ที่ไตทำงานปกติ

Warfarin เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน (oral anticoagulant) ออกฤทธิ์เป็น vitamin K antagonist ยับยั้งการสร้าง clotting factor II, VII, IX และ X เมื่อไม่นานมานี้สหภาพยุโรปโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในการใช้ยาได้ทบทวนถึงความสัมพันธ์ของการใช้ warfarin กับการเกิด calciphylaxis และสรุปถึงความเป็นไปได้ว่า warfarin อาจทำให้เกิด calciphylaxis แม้จะเกิดได้ยาก กลไกการเกิดอาจเกี่ยวข้องกับการยั้บยั้ง matrix Gla protein (เป็น vitamin-K-dependent protein) ซึ่งโปรตีนนี้สามารถยับยั้งการเกิด calcification ดังนั้นการใช้ warfarin จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิด vascular calcification ได้ในบางรายที่ไวต่อการสะสมแคลเซียม ซึ่งภายหลังการทบทวนข้อมูลองค์กรข้างต้นได้มีข้อแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้

• calciphylaxis เกิดขึ้นยากแต่เป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

• มีรายงานการเกิด calciphylaxis ในผู้ที่ใช้ warfarin ซึ่งบางรายไตทำงานปกติ จึงมีข้อแนะนำถึงความเป็นไปได้ว่า warfarin มีโอกาสที่จะทำให้เกิด calciphylaxis แม้ว่าจะเกิดได้ยาก

• หากพบว่าเกิด calciphylaxis ควรเริ่มให้การรักษาและควรพิจารณาหยุดใช้ warfarin

พร้อมกันนี้ให้แก้ไขข้อความในเอกสารที่เป็นข้อมูลของผลิตภัณฑ์ (product information) และเอกสารสำหรับผู้ป่วย (patient information leaflet) โดยเพิ่มข้อแนะนำดังกล่าว ซึ่งในเอกสารสำหรับผู้ป่วยให้มีคำแนะนำด้วยว่าปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาหากเกิดผื่นผิวหนังที่เจ็บปวด (painful skin rash)

อ้างอิงจาก:

(1) Warfarin: reports of calciphylaxis. Drug Safety Update volume 9 issue 12 July 2016: 1; (2) Huilaja L, Turpeinen M, Tokola H, Kauma H, Tasanen K, Ikäheimo R. Warfarin-induced calciphylaxis in patients with normal renal function. J Clin Pharm Ther 2016;41:449-52; (3) Hafiji J, Deegan P, Brais R, Norris P. Warfarin-induced calciphylaxis successfully treated with sodium thiosulphate. Australas J Dermatol 2013;54:133-5.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
calciphylaxis calcific uremic arteriolopathy uremia end-stage renal disease hyperparathyroidism warfarin oral anticoagulant vitamin K antagonist clotting factor II VII IX matrix Gla protein vitamin-K-dependent protein calcification vasc
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้