Fluoroquinolones กับความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อฯ: update
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กรกฎาคม ปี 2559 -- อ่านแล้ว 24,985 ครั้ง
Fluoroquinolones เป็นยาต้านจุลชีพที่มีบทบาทมากในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง มีผลต่อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก (gram-positive bacteria) และแกรมลบ (gram-negative bacteria) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น norfloxacin, ciprofloxacin, levofloxacin, moxifloxacin, gemifloxacin อาการไม่พึงประสงค์โดยทั่วไปเกิดไม่รุนแรง ผู้ป่วยทนต่อการใช้ยาได้ดี อย่างไรก็ตาม ภายหลังการวางจำหน่ายพบว่ายาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดผลเสียต่อเอ็น (tendon) เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานผลการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อเอ็นที่เกิดจากยาในกลุ่ม fluoroquinolones ระบุว่าถึงแม้จะมีโอกาสเกิดกับยาทั้งหลายในกลุ่มดังกล่าว แต่ levofloxacin (รวมถึง ofloxacin ซึ่งเป็น racemic form) อาจมีความเสี่ยงมากกว่ายาอื่น โดยความเสี่ยงขึ้นกับขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา รวมถึงปัจจัยร่วมอย่างอื่น ได้แก่ อายุมาก (มากกว่า 60 ปี) การได้รับ corticosteroids ร่วมด้วย ภาวะไตทำงานบกพร่อง และการมีประวัติรับการปลูกถ่ายอวัยวะ (solid organ transplantation)
ด้านคำเตือนในการใช้ยากลุ่ม fluoroquinolones ที่มีภายหลังการวางจำหน่ายนั้น เริ่มเมื่อปี 2008 บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีข้อมูลเป็น “black box warning” ระบุถึงความเสี่ยงต่อการเกิดเอ็นอักเสบ (tendinitis) และเอ็นฉีก (tendon rupture) ต่อมาปี 2011 ได้เพิ่มคำเตือนถึงอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรค myasthenia gravis มีอาการกำเริบหรือเป็นรุนแรงขึ้น ปี 2013 ได้เพิ่มคำเตือนถึงศักยภาพที่จะทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy) เส้นประสาทเกิดความเสียหาย (nerve damage) ซึ่งอาจเกิดแบบถาวร และในปี 2015 คณะกรรมการที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องยาของสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาข้อมูลของยากลุ่ม fluoroquinolones พบความเสี่ยงเพิ่มเติม และมีความเห็นว่ายามีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ในข้อบ่งใช้บางประการ ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ USFDA ได้อนุมัติให้มีการเพิ่มคำเตือนในการใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones ซึ่งครอบคลุม levofloxacin, ciprofloxacin, moxifloxacin, ofloxacin, gemifloxacin โดยเพิ่มข้อความลงใน “black box warning” เป็นคำเตือนที่เข้มงวดถึงผลเสียของยาที่อาจเกิดขึ้นกับเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นประสาท ระบบประสาทส่วนกลาง โดยยาอาจทำให้ร่างกายเสียความสามารถหรือไร้สมรรถภาพอย่างรุนแรงและอาจเกิดแบบถาวรได้ ผลเสียนี้อาจเกิดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือหลายสัปดาห์หลังได้รับยา จึงควรประเมินอย่างรอบคอบถึงประโยชน์เทียบกับความเสี่ยงก่อนใช้ในผู้ป่วย acute sinusitis, acute bronchitis (acute exacerbation of chronic bronchitis) และ urinary tract infections (acute uncomplicated cystitis) โดยจะใช้ก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ควรเก็บยาไว้ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรค (plague) โรคแอนแทรกซ์ (anthrax) และปอดอักเสบจากแบคทีเรีย (bacterial pneumonia)
อ้างอิงจาก:
(1) Lang TR, Cook J, Rio E, Gaida JE. What tendon pathology is seen on imaging in people who have taken fluoroquinolones? A systematic review. Fundam Clin Pharmacol 2016 Aug 1. doi: 10.1111/fcp.12228; (2) FDA updates warnings for fluoroquinolone antibiotics. FDA News Release, July 26, 2016. http://www.fda.gov/NewsEvents/Newsroom/PressAnnouncements/ucm513183.htm; (3) Bidell MR, Lodise TP. Fluoroquinolone-associated tendinopathy: does levofloxacin pose the greatest risk? Pharmacotherapy 2016;36:679-93.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fluoroquinolone
gram-positive bacteria
gram-negative bacteria
norfloxacin
ciprofloxacin
levofloxacin
moxifloxacin
gemifloxacin
tendon
ofloxacin
racemic form
corticosteroid
solid organ transplantation
black box warning
tendinitis
tendon