จากข้อแนะนำเกี่ยวกับการพักยา (drug holidays) เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์ของ bisphosphonates ภายหลังได้รับการรักษามาแล้วเป็นเวลา 2-5 ปีในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดกระดูกหัก หรือภายหลังได้รับการรักษามาแล้วเป็นเวลา 10 ปีในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกระดูกหัก (ดูเรื่อง “Bisphosphonates…อีกครั้งกับข้อแนะนำเกี่ยวกับ drug holidays” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2559) ซึ่งระยะเวลาที่พักยาขึ้นกับความเสี่ยงของผู้ป่วยที่จะเกิดกระดูกหักและชนิดของ bisphosphonate ที่ใช้ กรณีที่ใช้ alendronate อาจพักนาน 5 ปีหรือหากเป็น zoledronate อาจพักนาน 3 ปี หรือพักยาต่อเนื่องได้ตราบจนพบว่าเกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างมีนัยสำคัญหรือมีกระดูกหักเกิดขึ้น
ข้อมูลจาก the Fracture Intervention Trial Long-term Extension (FLEX) study พบว่าการพักยา alendronate ภายหลังจากการใช้ยามาแล้ว 5 ปี ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แม้จะมีการลดลงอย่างชัดเจนของค่าความหนาแน่นมวลกระดูก (bone mineral density; BMD) ของกระดูกสันหลัง (−3.7%) และกระดูกสะโพกทั้งหมด (−2.4%) และการเพิ่มขึ้นของค่า bone turnover markers (BTM) ก็ตาม แต่ค่าเหล่านี้ยังไม่ถึงระดับเมื่อเริ่มเข้ารับการรักษา (baseline) การศึกษานี้ยังพบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักเมื่อพักยาขึ้นกับค่า BMD ก่อนพักยา ในรายที่มีความเสี่ยงมากหากยืดเวลาการใช้ยา alendronate ออกไปอีก 5 ปี (รวมเป็น 10 ปี) จะลดการหักของกระดูกตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง (non-vertebral fracture) ลงได้มากกว่า 50% ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวกับการเกิดกระดูกขากรรไกรตาย (osteonecrosis of the jaw; ONJ) และการแตกหักของกระดูกต้นขาผิดแบบ (atypical femur fractures; AFF) ในช่วงที่ทำการศึกษานี้ไม่พบนัยสำคัญ ส่วนกรณีของ zoledronate ก็คล้ายคลึงกัน จาก the HORIZON-Pivotal Fracture Trial (PFT) พบว่าการพักยาหลังจากการใช้ยามาแล้ว 3 ปี ค่า BMD ลดลงในขณะที่ค่า BTM เพิ่มขึ้น แต่ค่าเหล่านี้ยังไม่ถึงระดับเมื่อเริ่มเข้ารับการรักษา หากยืดระยะเวลาการใช้ยานานจนถึง 6 ปี ค่า BMD กระดูกส่วนต่างๆ เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสันหลังหักลดลงราวครึ่งหนึ่ง (3.0% เทียบกับ 6.2%) และพบ ONJ จำนวน 1 ราย แต่ไม่พบ AFF
อีกรายงานหนึ่งที่ทำศึกษาโดยตรงถึงผลกระทบต่อ BMD ในช่วงที่พักยา bisphosphonates เป็นการศึกษาแบบ retrospective single-center cohort study ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจำนวน 208 คน (เพศหญิง 182 คนหรือ 87.5%) อายุ 66.9±8.9 ปี (ค่าเฉลี่ย ± SD) ในจำนวนนี้ 89.4% เป็นคนผิวขาว ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonates มาไม่น้อยกว่า 2 ปี (5.2±2.3 ปี) ก่อนการพักยา ติดตามผลช่วงพักยานาน 3.3±1.7 ปี พบว่าในช่วง 2 ปีแรกค่า BMD ที่กระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine) และที่คอกระดูกต้นขา (femoral neck) มีค่าคงที่ แต่ BMD ที่สะโพก (total hip) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ตั้งแต่ภายใน 1 ปีที่พักยา) หลังจากนั้นค่า BMD ที่กระดูกส่วนต่างๆ ล้วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ดูรูป) โดยเฉพาะในผู้ที่รูปร่างผอมบางและผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้ risedronate มาก่อน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้หลัง 6 ปีมีค่อนข้างน้อยเพียง 10% (20 หรือ 21 คน)
อ้างอิงจาก:
(1) Anagnostis P, Stevenson JC. Bisphosphonate drug holidays - when, why and for how long? Climacteric 2015;18(suppl 2):32-8; (2) Xu LH, Adams-Huet B, Poindexter JR, Maalouf NM. Determinants of change in bone mineral density and fracture risk during bisphosphonate holiday. Osteoporos Int 2015. doi 10.1007/s00198-015-3447-9; (3) Roberts J, Castro C, Moore AE, Fogelman I, Hampson G. Changes in bone mineral density and bone turnover in patients on ’drug holiday’ following bisphosphonate therapy: real-life clinic setting. Clin Endocrinol 2015. doi: 10.1111/cen.13012.