หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Bisphosphonates…อีกครั้งกับข้อแนะนำเกี่ยวกับ drug holidays

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2559 -- อ่านแล้ว 6,733 ครั้ง
 
การที่มีรายงานถึงอาการไม่พึงประสงค์ของ bisphosphonates เกี่ยวกับการเกิดกระดูกขากรรไกรตาย (osteonecrosis of the jaw) และการหักของกระดูกต้นขาผิดแบบ (atypical femur fractures) ประกอบกับคุณสมบัติของ bisphosphonates ที่สะสมในกระดูกได้นาน ทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการพักยา (drug holidays) ภายหลังได้รับการรักษาเป็นเวลานานระยะหนี่งแล้ว เช่น นาน 5 ปีสำหรับ alendronate หรือนาน 3 ปีหากเป็น zoledronate (zoledronic acid) และผู้นั้นมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดกระดูกหักหากมีการพักยา กล่าวคือ พิจารณาจากระยะเวลาที่ได้ใช้ยามานานแล้วและความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักหากมีการพักยา อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าเมื่อไรจึงจะเริ่มพักยาและจะพักนานเท่าไรนั้นจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา ข้อแนะนำเกี่ยวกับการพักยาจากแหล่งข้อมูลที่ต่างกันอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดได้บ้าง ตัวอย่างข้อแนะนำในการพักยา เช่น

• ความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดกระดูกหัก (low risk of fracture): ค่าความหนาแน่นมวลกระดูก (bone mineral density; BMD) ที่เป็นค่า T-score ต่ำสุดไม่ถึง −2.0 ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonate มาแล้ว 2-5 ปีไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด มี bone turnover markers (BTMs) ต่ำ พักการใช้ยาได้

ตัวอย่าง: สตรีวัย 52 ปี ประจำเดือนหมดเมื่ออายุ 50 ปี ค่า T-score ต่ำสุด −1.4 ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonate มาแล้ว 2 ปี พิจารณาพักการใช้ยาได้

• ความเสี่ยงระดับอ่อนที่จะเกิดกระดูกหัก (mild risk of fracture): ค่า T-score ต่ำสุดเท่ากับ −2.0 หรือต่ำกว่านี้ แต่ไม่ถึง −2.5 ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonate มาแล้ว 3-5 ปี มีปัจจัยเสี่ยงจากประวัติครอบครัว พักการใช้ยาได้

ตัวอย่าง: สตรีวัย 68 ปี ประจำเดือนหมดเมื่ออายุ 48 ปี ค่า T-score ต่ำสุด −2.3 ประวัติครอบครัวมีมารดาที่กระดูกสะโพกหัก ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonate มาแล้ว 5 ปี ค่า BMD คงที่ พิจารณาพักการใช้ยาได้

• ความเสี่ยงระดับปานกลางที่จะเกิดกระดูกหัก (moderate risk of fracture): ค่า T-score ต่ำสุดเท่ากับ −2.5 หรือต่ำกว่านี้ ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonate มาแล้ว 5-10 ปี ค่า BMD เพิ่มขึ้นแต่ยังคงเท่ากับ −2.0 หรือต่ำกว่านี้ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง (ไม่มีสะโพกหักหรือสันหลังหัก) พักการใช้ยา 3-5 ปี

ตัวอย่าง: สตรีวัย 70 ปี ประจำเดือนหมดเมื่ออายุ 47 ปี ค่า T-score ต่ำสุดเมื่อเริ่มรักษา −2.8 ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonate มาแล้ว 8 ปี ค่า BMD เพิ่มค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนมีค่า T-score ต่ำสุด −2.4 พักการใช้ยาได้

• ความเสี่ยงระดับสูงที่จะเกิดกระดูกหัก (high risk of fracture): ค่า T-score ต่ำสุดเท่ากับ −2.5 หรือต่ำกว่านี้หรือมีสะโพกหักหรือสันหลังหักเพิ่งเกิดขึ้นอีก หรือกำลังได้รับการรักษาด้วย glucocorticoid ขนาดสูง มี BTMs สูง เมื่อใช้ bisphosphonate มาแล้ว 10 ปี พักการใช้ยาได้ 1-2 ปี ช่วงที่พักนี้ให้รักษาด้วยยาอื่น เช่น teriparatide หรือ raloxifene

ตัวอย่าง: สตรีวัย 70 ปี ประจำเดือนหมดเมื่ออายุ 45 ปี ค่า T-score ต่ำสุดเมื่อเริ่มรักษา −3.5 กำลังได้รับ glucocorticoid เพื่อรักษา rheumatoid arthritis ด้วย มีประวัติของกระดูกสันหลังหัก ได้รับการรักษาด้วย bisphosphonate มาแล้ว 10 ปี ค่า T-score ยังต่ำและยังมีความเสี่ยงระดับสูง พักการใช้ยาได้ 1-2 ปี ช่วงที่พักให้รักษาด้วยยาอื่น เช่น teriparatide หรือ raloxifene

ช่วงที่พักยาควรมีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก โดยประเมินที่ 1 ปีหลังพัก risedronate (มีความชอบจับกับกระดูกต่ำกว่ายาอื่น) 1-2 ปีหลังพัก alendronate และ 2-3 ปีหลังพัก zoledronic acid (มีความชอบจับกับกระดูกสูงกว่ายาอื่น) ซึ่งการลดลงของ BMD หรือการเพิ่มขึ้นของ BTMs อาจทำให้ต้องกลับมาใช้ bisphosphonate เร็วขึ้น การพักยาทำต่อเนื่องได้ตราบจนพบว่าเกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีกระดูกหักเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าสิ่งใดเกิดก่อน ทั้งนี้ระยะเวลาที่พักยาในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับผลการประเมินความเสี่ยงเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ

อ้างอิงจาก:

(1) Diab DL, Watts NB. Use of drug holidays in women taking bisphosphonates. Menopause 2014;21:195-7; (2) Anagnostis P, Stevenson JC. Bisphosphonate drug holidays - when, why and for how long? Climacteric 2015;18(suppl 2):32-8; (3) Villa JC, Gianakos A, Lane JM. Bisphosphonate treatment in osteoporosis: optimal duration of therapy and the incorporation of a drug holiday. HSSJ 2016;12:66-73.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
bisphosphonate osteonecrosis of the jaw atypical femur fracture drug holiday alendronate zoledronate low risk of fracture bone mineral density BMD T-score bone turnover marker BTM mild risk of fracture moderate risk of fracture glucocor
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้