Oncolytic virus เป็นไวรัสที่สามารถเพิ่มจำนวนภายในเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ปกติของร่างกาย กล่าวคือ มี cytotoxic selectivity ต่อเซลล์มะเร็ง การศึกษาถึงความสามารถของไวรัสในการฆ่าเซลล์มะเร็งนั้นมีมานานหลายสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม การศึกษาจนถึงขั้นคลินิกเพื่อรักษาโรคมะเร็งนั้นเพิ่งมีเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว
Oncolytic virus มีทั้งสายพันธุ์ที่ผลิตขึ้น (genetically engineered strain) และสายพันธุ์ตามธรรมชาติ (natural strain) ในการออกฤทธิ์สามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่ติดไวรัสได้โดยตรง (direct cytotoxicity) และสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยแอนติเจนที่เกิดขึ้นภายหลังเซลล์ตาย (tumor-derived antigens) เป็นภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็ง ข้อดีของการใช้ oncolytic virus ในการต้านมะเร็งมีหลายประการ ได้แก่ (1) ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ภายในเซลล์และออกฤทธิ์เฉพาะต่อเซลล์ที่ติดไวรัสนั้น จึงลดผลกระทบต่อเซลล์ปกติ ต่างจากการรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไปที่ทำอันตรายต่อเซลล์ปกติได้ (2) กลไกในการทำลายเซลล์มะเร็งมักไม่เกี่ยวกับ programmed death จึงลดการเกิดการดื้อยา (3) เมื่อเซลล์มะเร็งตายจะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณรอบๆ และเกิดแอนติเจนชักนำการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งเสมือนการได้รับวัคซีน (4) สามารถติดอาวุธให้กับไวรัสด้วยการใส่ยีนเพื่อให้ผลิตชีววัตถุที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เช่น cytokines, chemokines, เอนไซม์, แอนติบอดี (ดูรูป) ส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์นั้น (5) สามารถใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นได้ ปัจจุบันมี oncolytic virus ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายได้แล้วในบางประเทศ ได้แก่ talimogene laherparepvec (T-VEC) ซึ่งเป็น genetically modified herpes virus โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษา advanced melanoma
อ้างอิงจาก:
(1) Seymour LW, Fisher KD. Oncolytic viruses: finally delivering. Br J Cancer 2016. doi: 10.1038/bjc.2015.481; (2) Kaufman HL, Kohlhapp FJ, Zloza A. Oncolytic viruses: a new class of immunotherapy drugs. Nat Rev Drug Discov 2015;14:642-62; (3) Dharmadhikari N, Mehnert JM, Kaufman HL. Oncolytic virus immunotherapy for melanoma. Curr Treat Options Oncol 2015;16:326. doi: 10.1007/s11864-014-0326-0.