หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5-HT3 receptor antagonists กับความเสี่ยงต่อ serotonin syndrome

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 12,199 ครั้ง
 

Serotonin syndrome (มีชื่ออื่นอีกหลายชื่อ เช่น serotonergic syndrome, serotonin toxicity, serotonin toxidrome, serotonin sickness, serotonin storm, serotonin poisoning, hyperserotonemia) เป็นภาวะที่เกิดจากฤทธิ์ยาที่ทำให้มี serotonergic activity เกิดมากเกินไป เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เกิดขึ้นได้กับการใช้ยาในขนาดปกติ หรือขนาดสูง หรือเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยา จัดเป็นอาการไม่พึงประสงค์ประเภทที่พยากรณ์ได้ เนื่องจากเป็นผลที่เกิดจากการใช้ยาที่ทำให้ serotonergic activity ที่ตัวรับชนิด 5-HT1A และ 5-HT2 เกิดขึ้นมากเกินไปไม่ว่าจะเกิดที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือที่อื่น ทำให้เกิดผลกระทบด้านสติปัญญา (cognitive effect) ระบบประสาทอัตโนวัติ (autonomic effect) และผลต่อกาย (somatic effect) อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงขั้นเสียชีวิต ความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะกายใจไม่สงบ (agitation) อาการสั่น (tremors) สับสน (confusion) ความกระสับกระส่าย (restlessness) หัวใจเต้นเร็ว เหงื่ออกมาก กล้ามเนื้อบิดหรือแข็งเกร็ง ภาวะที่มีรีเฟล็กซ์ไวเกิน (hyperreflexia) มีไข้ ความดันโลหิตแปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียน รูม่านตาขยาย ไม่รู้สึกตัว โคม่า ซึ่งความผิดปกติบางอย่างคล้ายกับ neuroleptic malignant syndrome ผู้ป่วยจึงควรได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อได้รับการรักษาอย่างทันที มียาหลายชนิดที่ทำให้เกิด serotonin syndrome โดยเกิดด้วยกลไกที่แตกต่างกัน (ดูตาราง) การรักษาที่ดีที่สุด คือรีบหยุดยาพวก serotonergic agents ในรายที่เป็นไม่รุนแรง อาการจะทุเลาลงโดยไม่ต้องให้การรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม แต่บางรายมีอาการรุนแรงอาจต้องให้ serotonin antagonists ที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับชนิด 5-HT1A และ 5-HT2 เช่น cyproheptadine (ยานี้เป็น H1-antihistamine ที่มีฤทธิ์เป็น serotonin antagonist และยังมีฤทธิ์ anticholinergic อย่างอ่อน) พร้อมทั้งให้ยาพวก benzodiazepines เพื่อควบคุมภาวะกายใจไม่สงบ กรณีที่ยาหรือเมแทบอไลต์ของยามีค่าครึ่งชีวิตยาว เช่น irreversible monoamine oxidase inhibitors (MAOIs), selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) บางตัว อาการ serotonin syndrome อาจคงอยู่นาน

สำหรับ 5-HT3 receptor antagonists กับความเสี่ยงต่อ serotonin syndrome นั้น ได้มีการกล่าวถึงมาแล้วก่อนหน้านี้ และเมื่อไม่นานมานี้องค์กรด้านสุขภาพของแคนาดา (Health Canada) ได้ทำการทบทวนความปลอดภัยในการใช้ยาพวก serotonin-blocking drugs กลุ่ม 5-HT3 receptor antagonists เช่น dolasetron, granisetron, ondansetron และ palonosetron ที่ใช้เป็นยาสำหรับรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากยาต้านมะเร็ง (บางตัวมีข้อบ่งใช้อย่างอื่นด้วย) และได้ข้อสรุปว่ายาเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเกิด serotonin syndrome ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากทำให้เกิดการสะสมของซีโรโทนินในร่างกายได้ และความเสี่ยงมีมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่ทำให้เกิดการสะสมซีโรโทนินด้วย จึงได้ดำเนินการให้ปรับปรุงแก้ไขเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์เหล่านั้น และปัจจุบันยาหลายตำรับได้มีการแก้ไขข้อมูลด้านความปลอดภัยแล้ว

อ้างอิงจาก:

(1) Bascara CR. Serotonin syndrome. Reviewed July, 2014, expires July, 2016. http://www.rn.org/courses/coursematerial-10007.pdf; (2) Serotonin syndrome. http://www.uptodate.com/contents/serotonin-syndrome; (3) New safety information: risk of serotonin syndrome associated with serotonin blocking drugs used to treat nausea and vomiting. Posting date: May 14, 2014. http://healthycanadians.gc.ca/recall-alert-rappel-avis/hc-sc/2014/39519a-eng.php

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
serotonin syndrome serotonergic syndrome serotonin toxicity serotonin toxidrome serotonin sickness serotonin storm serotonin poisoning hyperserotonemia serotonergic activity 5-HT1A 5-HT2 cognitive effect autonomic effect somatic effect
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้