หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Fish oil-derived free fatty acids ใช้เป็นยารักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กรกฎาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 25,705 ครั้ง
 

น้ำมันปลา (fish oil) มีกรดไขมันอิสระจำพวก omega-3 fatty acids ชนิดที่สำคัญได้แก่ eicosapentaenoic acid (EPA; C20H30O2) และ docosahexaenoic acid (DHA; C22H32O2) มีการใช้น้ำมันปลาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันมีการนำกรดไขมันอิสระจากน้ำมันปลามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อเป็นยาควบคุมระดับไขมันในเลือด (lipid-regulating agent) โดยใช้ในกรณีที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (hypertriglyceridemia) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาจะมีการควบคุมด้านคุณภาพที่เข้มงวด สร้างความมั่นใจในปริมาณและคุณภาพของสารสำคัญได้มากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ในด้านยา การนำกรดไขมันอิสระจากน้ำมันปลามาใช้เป็นยารักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงนั้น กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับการยับยั้ง acyl-CoA:1,2-diacylglycerol acyltransferase, การเพิ่ม beta-oxidation ที่ภายในเซลล์ตับ (ที่ไมโตคอนเดรียและเพอรอกซิโซม) การลดการสร้างไขมันในตับ และการเพิ่มฤทธิ์เอนไซม์ lipoprotein lipase ในพลาสมา นอกจากนี้ยาอาจไปลดการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ในตับเนื่องจาก EPA และ DHA ไม่ใช่สารตั้งต้นที่ดีในการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ และกรดไขมันอิสระทั้งสองชนิดนี้ยังยับยั้งกระบวนการ esterification ของกรดไขมันชนิดอื่น สำหรับยาที่ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายในบางประเทศแล้วนั้นทำในรูปยาแคปซูลนิ่ม (soft-gelatin capsule) ในแต่ละแคปซูลมีกรดไขมันอิสระจากน้ำมันปลา 1 กรัม โดยกำหนดว่ามี polyunsaturated fatty acids (ทั้ง EPA และ DHA) ไม่น้อยกว่า 850 มิลลิกรัม มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงรุนแรง (≥ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ในผู้ใหญ่ โดยใช้เสริมกับการควบคุมอาหาร รับประทานวันละ 1 ครั้ง ในขนาด 2 กรัม (2 แคปซูล) หรือ 4 กรัม (4 แคปซูล) ขึ้นกับการตอบสนองต่อยาและการทนต่ออาการไม่พึงประสงค์ การศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนประสิทธิผลของยานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบกับยาหลอก (olive oil) ปกปิดทั้งสองทางและให้ยากับยาหลอกคู่ขนานกัน (randomized, placebo-controlled, double-blind, parallel-group trial) ศึกษานาน 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษามีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ระหว่าง 500 และ 2,000 มิลลิกรัม/เดซิลิตร พบว่ายาสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังลด non-HDL-C ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน แต่ยาทำให้ LDL-C เพิ่มขึ้น อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบเช่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรืออึดอัดท้อง เรอ

อ้างอิงจาก:

(1) Epanova (omega-3-carboxylic acids) soft-gelatin capsules. http://www.rxlist.com/epanova-drug.htm; (2) FDA Approves Epanova for severe hypertriglyceridemia. http://www.medscape.com/viewarticle/824748

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fish oil omega-3 fatty acid eicosapentaenoic acid EPA C20H30O2 docosahexaenoic acid DHA C22H32O2 lipid-regulating agent hypertriglyceridemia acyl-CoA diacylglycerol acyltransferase beta-oxidation lipoprotein lipase esterification soft-
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้