Arsenic-containing dental products ทำให้เกิด genotoxicity และ osteonecrosis
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กรกฎาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 3,004 ครั้ง
มีการนำสารหนู (arsenic) มาใช้ทางทันตกรรมนานแล้ว เช่น ใช้ทำลายเนื้อเยื่อในโพรงฟัน (dental pulp) ในงานทันตกรรมด้านการรักษารากฟัน โดยใส่ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเพสต์ (arsenic-containing dental paste) ลงในโพรงฟันที่ได้ผ่าตัดฟันเปิดเตรียมไว้และหลังจากทิ้งไว้ 7 วันจึงทำการเปิดฟันอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำสิ่งที่อยู่ในโพรงฟันซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายแล้วออกมา แม้ว่าผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่มีสารหนูเป็นส่วนประกอบ (arsenic-containing dental products) จะถูกเพิกถอนไป แต่ในบางประเทศยังพบผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกเลิกไปนั้นวางจำหน่ายอยู่
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการที่ดูแลผลิตภัณฑ์ด้านยาสำหรับมนุษย์ (Committee for Medicinal Products for Human Use; CHMP) ของ European Medicines Agency (EMA) ได้ทบทวนข้อมูลด้านประโยชน์และความเสี่ยงของ arsenic-containing dental pastes ที่มีใช้ในยุโรป ซึ่งมีตัวยาสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ephedrine hydrochloride, lidocaine และ arsenic trioxide (arsenous anhydride) จากข้อมูลพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีสารหนูเป็นส่วนประกอบเหล่านั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรม (genotoxicity) ซึ่งเท่ากับว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งด้วย นอกจากนี้บางรายอาจมีสารหนูเล็ดลอดออกมาทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณรอบฟันรวมถึงกระดูกด้วย (osteonecrosis) คณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นว่าการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการใช้และการให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมไม่อาจช่วยลดความเสี่ยงให้ลงมาสู่ระดับที่ยอมรับได้ จึงเสนอแนะให้เพิกถอนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
อ้างอิงจาก:
(1) Kennedy D, Just A. Old habits die hard: the continued use of arsenic and lead in dentistry. Newsletter for Dental Professional. Issue: July 2014. http://iaomt.org/dp/july-2014/; (2) European Medicines Agency recommends revoking authorisations of Caustinerf arsenical and Yranicid arsenical used in dental procedures. EMA Press release, 25 April 2014
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
arsenic
dental pulp
arsenic-containing dental product
Committee for Medicinal Products for Human Use
CHMP
European Medicines Agency
EMA
ephedrine hydrochloride
lidocaine
arsenic trioxide
arsenous anhydride
genotoxicity
osteonecrosis